ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูประบบการปกครองครั้งใหญ่โดยเฉพาะกับประเทศราษฏร์ที่เข้ามาอยู่ใต้การปกครองของสยามแต่ไม่ได้ยอมรับการปกครองจากกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง อำนาจของเจ้านครหรือเจ้าหลวง มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสามารถกำหนดระบบราชการของตนรวมถึงเป็นเจ้าชีวิตสั่งประหารใครก็ได้ในเขตการปกครองของตน
เหตุการณ์หนึ่งที่บันทึกโดย ศจ.เดเนียล แมคกิลวารี บิดาแห่งงานพันธกิจล้านนา คือเมื่อเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1869 (พ.ศ. 2412) พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงแห่งเชียงใหม่ ใช้อำนาจสั่งประหารน้อยสุริยะกับหนานชัย ด้วยสาเหตุที่หันมานับถือศาสนาคริสต์ เรื่องนี้สั่นสะเทือนความมั่นคงของสยามเป็นอย่างยิ่งเพราะสมัยนั้นการล่าอาณานิคมยังครู่กรุ่น ชาติตะวันตกพร้อมจะเข้ามายึดประเทศสยามด้วยสาเหตุนี้ได้
|
คริสตจักรที่หนึ่งเชียงใหม่ ก่อตั้งโดย ศจ.เดเนียล แมคกิลวารี หรือพ่อครูเฒ่าแห่งล้านนา |
นอกจากนั้นพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ยังกระด้างกระเดื่องไม่ยอมรับสนธิสัญญาเบาริ่งที่กรุงเทพฯ ตกลงกับอังกฤษในปี ค.ศ. 1855 (พ.ศ. 2398) โดยประกาศว่าจะไม่ยอมให้เกิดการบังคับใช้สนธิสัญญานี้ในล้านนา ทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากจากอำนาจส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ราวกับกำลังจะประกาศเอกราชเป็นของตัวเอง
|
พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงแห่งเชียงใหม่ |
เหตุผลทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการปราบปรามในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ส่งข้าราชการจากกรุงเทพฯ ไปบังคับการใช้กฎหมาย ต่อมาส่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระเจ้าน้องยาเธอฯ ไปเป็นข้าหลวงเชียงใหม่ และถอดพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงแห่งเชียงใหม่ออกจากอำนาจเหลือเพียงแต่ยศศักดิ์ที่ขาดอำนาจปกครอง
|
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร |
ปกติเจ้าหลวงแต่ละพระองค์จะสร้างหอแก้วหอคำของตนเองเพื่อเป็นสัญญลักษณ์แห่งอำนาจ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการสร้างหอแก้วหอคำอีกต่อไป เนื่องมาจากการควบคุมอำนาจของเจ้าหลวงล้านนา ทั้งที่เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ และน่าน เป็นต้น
การงัดข้อทางอำนาจนี้ต่อมาทำให้เกิดกบฏเงี้ยว (ไทยใหญ่) แต่ทางกรุงเทพฯ ส่งกองกำลังไปปราบปรามจนหมดสิ้น การสอบสวนพบว่าเจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานบางคนที่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับกบฏครั้งนี้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีผู้ปราบกบฏเงี้ยวจึงถอดเจ้าพิริยเทพวงศ์ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองแพร่ทันที การปกครองของประเทศราษฏร์ล้านนาจึงถูกบังคับจากกรุงเทพฯ โดยสมบูรณ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
|
กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ |
เหตุการณ์นี้ทำให้ผมคิดถึงพระคัมภีร์ที่บันทึกเรื่องราวการแต่งตั้งและถอดถอนสิทธิอำนาจในโลกที่พระเจ้าเข้ามากำหนดและแทรกแซง
พระเจ้าทรงแต่งตั้งกษัตริย์ซาอูล เมื่อเขาไม่เชื่อฟังพระเจ้าทรงถอดถอดสิทธิอำนาจ แต่การสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ซาอูลเกิดจาการแพ้สงครามกับฟีลิสเตีย สุดท้ายเขาก็ฆ่าตัวตายจบชีวิตตนเอง
1 ซามูเอล 31:4
แล้วซาอูลรับสั่งคนถืออาวุธของพระองค์ว่า “จงชักดาบออกแทงเราเสียให้ทะลุเถิด เกรงว่าพวกที่ไม่ได้เข้าสุหนัตเหล่านี้จะเข้ามาแทงเราทะลุ และทำป่าเถื่อนต่อเรา” แต่ผู้ถืออาวุธไม่ยอมทำตาม เพราะเขากลัวมาก ซาอูลจึงทรงหยิบดาบของพระองค์ และทรงล้มทับดาบนั้น
สมัยกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์แห่งอาณาจักรบาบิโลน พระเจ้าทรงจัดการกับความหยิ่งผยองของเขาโดยทำให้จิตใจฝั่นเฟือนไปชั่วขณะหนึ่ง
ดาเนียล 4:31-33
เมื่อกษัตริย์ตรัสยังไม่ทันจบ ก็มีเสียงมาจากฟ้าสวรรค์ว่า “โอ กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ เราประกาศแก่เจ้าว่า ราชอาณาจักรได้พรากไปจากเจ้าแล้ว และเจ้าจะถูกขับไล่ไปจากท่ามกลางมนุษย์ เจ้าจะอยู่กับสัตว์ในท้องทุ่ง จะต้องกินหญ้าอย่างกับโค จะเป็นอยู่อย่างนั้นจนครบเจ็ดวาระ จนกว่าเจ้าจะเรียนรู้ได้ว่า พระผู้สูงสุดทรงปกครองบรรดาราชอาณาจักรของมนุษย์ และประทานราชอาณาจักรเหล่านั้นแก่ผู้ที่พระองค์พอพระทัย”
อีกครั้งในสมัยกษัตริย์เฮโรด ใช้อำนาจข่มเหงคริสตจักรอย่างมากมายเพื่อเอาใจคนยิว พระเจ้าทรงลงโทษด้วยโรคร้ายจนสิ้นพระชนม์
กิจการของอัครทูต 12:22-23
คนทั้งหลายจึงร้องขึ้นว่า “นี่เป็นเสียงของพระไม่ใช่เสียงมนุษย์” ในทันใดนั้น ทูตสวรรค์องค์หนึ่งขององค์พระผู้เป็นเจ้าทำให้ท่านเกิดโรคร้าย เพราะท่านไม่ได้ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า แล้วท่านก็ถูกตัวหนอนกัดกินร่างกายจนสิ้นพระชนม์
พระเยซูทรงตรัสกับปีลาตเมื่อเขาสอบสวนและอ้างสิทธิอำนาจเหนือพระองค์ พระเยซูเตือนปีลาตว่าสิทธิอำนาจที่เขามี ได้รับการประทานจากเบื้องบน ไม่ใช่เป็นสิทธิอำนาจที่เกิดจากตัวของเขาเอง
ยอห์น 19:10-11
ปีลาตจึงทูลถามพระองค์ว่า “เจ้าจะไม่พูดกับเราหรือ? เจ้าไม่รู้หรือว่าเรามีสิทธิอำนาจที่จะปล่อยเจ้า และมีอำนาจที่จะตรึงเจ้าที่กางเขนได้?” พระเยซูตรัสตอบว่า “ท่านจะไม่มีสิทธิอำนาจเหนือเรานอกจากจะประทานแก่ท่านจากเบื้องบน เพราะเหตุนี้คนที่มอบเราไว้กับท่านจึงมีความผิดมากกว่าท่าน”
พระเจ้าทรงเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนสิทธิอำนาจทั้งปวง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ให้เรายำเกรงพระเจ้าและในส่วนของเรา ให้เราดำเนินชีวิตติดตามพระองค์เสมอด้วยความไว้วางใจในพระเจ้า
อ้างอิง:
[1] ไกรฤกษ์ นานา. เบื้องหลังสัญญาเบาริ่งและประวัติภาคพิสดารของ Sir John Bowling. กรุงเทพฯ: มติชน, 2555.
[2] ไกรฤกษ์ นานา. สยามรัฐท่ามกลางจักรวรรดินิยม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2563.
[3] จอร์จ บลัดเลย์ แมคฟาร์แลนด์. หนึ่งศตวรรษในสยาม ค.ศ.1828-ค.ศ.1928. กรุงเทพฯ: อินเตอร์ พับลิชชิ่ง เอ็นเตอร์ไพรส์, 2012.
ความคิดเห็น