พระเยซูถูกตรึงบนกางเขนด้วยตะปู 3 ตัวหรือ 4 ตัว?

โดย กนก ลีฬหเกรียงไกร
***ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่านี่เป็นเพียงข้อสังเกตของผมจากประวัติศาสตร์ศิลป์ หากท่านใดมีความเห็นต่างหรือต้องการเพิ่มเติมมุมมองอื่นๆ สามารถแสดงความเห็นได้ครับ***

พระเยซูคริสต์ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อเราโดยการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน โดยใช้พระองค์เองเป็นค่าไถ่บาปเราทั้งหลายให้พ้นจากนรกบึงไฟ นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.33 แต่ส่งผลกระทบกระเทือนเป็นนิรันดร์ต่อมนุษย์ทุกคน ผู้ที่เชื่อวางใจในพระองค์จะได้รับการให้อภัยบาป รอดพ้นจากนรกบึงไฟ และมีชีวิตนิรันดร์

เรื่องการตรึงของพระเยซูเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยต้น ศตวรรษที่ 1 ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันได้มีคำถามมากมายว่าพระเยซูถูกตรึงในลักษณะไหน ตะปูตอกที่ข้อมือหรือฝ่ามือ แล้วเท้าตอกตรงจุดไหน
Crucifixion in the Byzantine and Christian Museum in Athens (14th century)
เรื่องการตรึงบนกางเขนของพระเยซูคริสต์ มีการระบุชัดเจนในพระคัมภีร์แค่ "ท่อนบน" คือตะปู 2 ตัวตอกที่ฝ่ามือ และมีรอยหอกแทงที่สีข้างของพระองค์ แต่ไม่มีการระบุว่าที่เท้าตรึงในลักษณะไหน อย่างไร

ในพระกิตติคุณ 4 เล่ม ไม่มีเล่มไหนให้รายละเอียดของการตรึงกางเขนยกเว้นพระธรรมยอห์น ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่ยอห์นจะให้รายละเอียดบางอย่างเพราะเขาได้เห็นพระเยซูถูกตรึงด้วยตา เป็นประจักษ์พยานที่สำคัญ
ยอห์น 19:34 แต่​ทหาร​คน​หนึ่ง​เอา​ทวน​แทง​ที่​สี​ข้าง​ของ​พระ​องค์ และ​โล​หิต​กับ​น้ำ​ก็​ไหล​ออก​มา​ทัน​ที
ยอห์น 20:20 เมื่อ​พระ​องค์​ตรัส​อย่าง​นั้น​แล้ว พระ​องค์​ทรง​ให้​เขา​ดู​พระ​หัตถ์​และ​สี​ข้าง​ของ​พระ​องค์ เมื่อ​พวก​สา​วก​เห็น​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​แล้ว​ก็​มี​ความ​ยินดี
ยอห์น 20:25 สา​วก​คน​อื่นๆ จึง​บอก​โธ​มัส​ว่า “เรา​เห็น​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​แล้ว” แต่​โธ​มัส​ตอบ​พวก​เขา​ว่า “ถ้า​ข้า​ไม่​เห็น​รอย​ตะปู​ที่​พระ​หัตถ์​ของ​พระ​องค์ และ​ไม่​ได้​เอา​นิ้ว​ของ​ข้า​แยง​เข้า​ไป​ที่​รอย​ตะปู​นั้น และ​ไม่​ได้​เอา​มือ​ของ​ข้า​แยง​เข้า​ไป​ที่​สี​ข้าง​ของ​พระ​องค์​แล้ว ข้า​จะ​ไม่​เชื่อ​เลย”
(อ่านเกี่ยวกับวิธีการตรึงกางเขนเพิ่มเติมที่ http://kanok-leelahakriengkrai.blogspot.com/2016/05/blog-post.html )
ภาพพระเยซูที่เก่าแก่ที่สุด Alexamenos Graffito (แบบแกะลายเส้น)
รูปภาพที่เก่าแก่ที่สุดของพระเยซู (ศตวรรษ ที่ 1) เป็นภาพล้อเลียนทหารที่มีความเชื่อในพระเยซูชื่อ อเล็กซาโมนอช และมีภาพล้อเลียนพระเยซู ที่เท้าเหมือนจะเยียบบนแท่นยืน และ "แยกเท้า" อย่างชัดเจน
Alexamenos Graffito (ต้นฉบับ)
(อ่านเรื่องราวของภาพนี้เพิ่มเติมได้ที่ http://kanok-leelahakriengkrai.blogspot.com/2016/05/blog-post_10.html)

ภาพตรึงกางเขน พบที่ซีเรีย วาดใน ค.ศ.586 ตะปูจะตอกที่เท้าทั้ง 2 ข้าง

Crucifixion of Jesus of Nazareth, Hortus deliciarum of Herrad of Landsberg (12th century)
หลักฐานที่น่าสนใจที่สุดคือในปี ค.ศ.1970 มีการค้นพบสุสานโบราณชาวยิวที่ Givat HaMivtar ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม และพบโครงกระดูกหนึ่งที่ถูกตรึงติดอยู่บนกางเขนโดยปล่อยให้เน่าอยู่อย่างนั้นจนเหลือแต่กระดูก มีการสำรวจอายุของศพ น่าจะย้อนไปได้ไกลถึง ค.ศ.7-70 ลักษณะกระดูกเท้ามีตะปูคาอยู่ และเป็นการตอกที่ "ข้างเท้าทั้ง 2 ข้าง" และตอก "แต่ละข้างด้วยตะปู 1 ตัว รวม 2 ข้าง เป็น 2 ตัว" ไม่ใช่ตอกตะปูที่ฝ่าเท้า 1 ตัว อย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน
กระดูกเท้าที่พบที่ Givat HaMivtar สุสานโบราณของชาวยิว ใกล้เยรูซาเล็ม ค้นพบในปี ค.ศ.1970
มากไปกว่านั้น เราจะพบว่าภาพวาดพระเยซูบนกางเขน ก่อนศตวรรษที่ 12 ล้วนมีตะปูตรึง 2 ตัวที่เท้า ให้ยึดติดกับแท่นยืน ส่วนภาพสมัยหลังจากนั้นมีทั้ง 2 อย่างคือ เท้าทับกันแล้วตอกตะปู 1 ตัว (ซึ่งเราอาจคุ้นกับภาพลักษณะนี้มากกว่า)
Crucifixion, from the Buhl Altarpiece. 1490s
ภาพการตรึงกางเขนที่เราคุ้นตา วาดสมัยศตวรรษที่ 17 (Cristo crucificado by Diego Velázquez, 1632)
อาจจะมีหลากหลายความคิดว่าทำไมถึงวาดลักษณะเท้าของพระเยซูจากแยกเท้าเป็นการไขว้เท้า แต่แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจคืออิทธิพลของภาพวาดในลักษณะนี้อาจจะมาจากสงครามครูเสดที่จบลงในสมัยศตวรรษที่ 13 สมัยนั้นมีความเชื่อว่า นักรบครูเสดที่ไปรบ 1 ครั้งเวลาทำหลุมศพจะไขว้ขาที่ข้อเท้า หากไปรบได้ 2 ครั้งจะไขว้ขามาที่หัวเข่า หากไปรบ 3 ครั้งจะไข้วขามาถึงน่อง นั่นเป็นปริศนารูปสลักฝาโลงของเหล่าอัศวิน ซึ่งภายหลังได้มีการอธิบายความหมายไว้แบบนั้น
Duke of Normandy 1106
William Marshal Earl of Pembroke (d.1219) and an unknown knight
ลักษณะการตรึงกางเขนของพระเยซูคริสต์ไม่มีศิลปินคนไหนใครรู้จริงๆ ว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร เพราะกว่าศาสนาคริสต์จะเป็นที่ยอมรับเวลาก็ผ่านไปกว่า 300 ปีหลังจากพระเยซูถูกตรึงและเสด็จขึ้นสู่สวรรค์แล้ว

ภาพของการตรึงของพระเยซูจึงมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรม ประสบการณ์ ประวัติศาสตร์สัมพัทธ์ และความนิยมของคนในแต่ละยุคด้วย ซึ่งหากเราสังเกต เราจะพบว่าความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม โลกทัศน์ของแต่ละยุค ทำให้เกิดภาพการตรึงของพระเยซูที่มีความคล้ายคลึงแต่แตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อย

คิดไปคิดมา เวลาร้องเพลงว่า "วันที่เขาตรึงพระเยซู ท่านอยู่ที่นั่นหรือเปล่า ตะปู 3 ตัวที่ตอกตรึงนั้น..." ผมว่าต้องทบทวนใหม่แล้วหล่ะครับ เพราะภาพโบราณต่างๆ ชี้ไปที่ 4 ตัวมากกว่า อืมมม...

อ้างอิง

  • Why Knights Cross Their Legs, The E-Sylum:  Volume 10, Number 36, September 10, 2007, Article 13
  • Wikipedia, Crucifixion of Jesus
  • ครูเสด ในนามแห่งกางเขนศักดิ์สิทธิ์ สงครามศาสนาเลือดที่ไม่มีวันจบ โดย ดร.โนว์
  • มหาสงครามที่โลกจารึก โดย อนันตชัย จินดาวัฒน์

ความคิดเห็น