หลักการวินิจฉัยแสดงออกในพระวิญญาณในที่ประชุมคริสตจักร

กลุ่มเพ็นเทคอสได้ขับเคลื่อนงานพันธกิจของพระเจ้าระดับโลกอย่างเอาจริงเอาจังในช่วงศตวรรษที่ 20 และเกิดผลมาก มีคริสตจักรเพิ่มขึ้นอย่างมากมายหลายประเทศทั่วโลก

กลุ่มเพ็นเทคอสเข้ามาในประเทศไทยในปี ค.ศ. 1938 มีการเทศนาฟื้นฟูและการประกาศด้วยฤทธิ์เดชหมายสำคัญที่มาจากพระเจ้า หลังจากนั้นเกิดกลุ่มเพ็นเทคอสในประเทศไทยหลายกลุ่ม เติบโตและขยายคริสตจักรได้มากมาย โดยจุดเน้นคือการพูดภาษาแปลกๆ เป็นหมายสำคัญของการรับบัพติศมาในพระวิญญาณ

ปลายศตวรรษที่ 20 มีการแสดงออกของกลุ่มที่เชื่อในพระวิญญาณในลักษณะใหม่ๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเหตุการณ์โตรอนโต เบลสซิ่ง (Toronto Blessing) คริสตจักรวินยาร์ด (Vineyard Church) ประเทศแคนนาดา ในปี 1994  ซึ่งครั้งนั้นมีการแสดงออกต่อยอดจากการพูดภาษาแปลกๆ ได้แก่

- การหัวเราะที่ควบคุมตัวไม่ได้ (Holy Laugh) หัวเราะอย่างมากมาย เป็นเวลานานเป็นชั่วโมงๆ และหลายครั้งก็ทำเสียงเหมือนสิงโตคำรามออกมาด้วย

การทำท่าทางอาเจียน (Crunching) ซึ่งเป็นอาการที่อ้างว่าพระวิญญาณมาขับของสิ่งไม่ดีในชีวิตออกไป

- การล้มในพระวิญญาณ (Slain in the Spirit) หมายถึงตัวเก่าถูกประหารให้ตาย อาการที่แสดงออกจะเป็นการคุมตัวเองไม่ได้และล้มลงเหมือนถูกประหาร

ต่อมาการแสดงออกในลักษณะนี้ได้กระจายไปทั่วโลก และมีการเพิ่มเติมการแสดงออกอีก เช่น การท่วมท้นในพระวิญญาณ (Soaking) เป็นอาการเหมือนเมา โซเซ ควบคุมตัวไม่ได้ บางคนก็ฟุบไปเป็นชั่วโมงๆ การทำเสียงเหมือนไก่ขัน เหมือนเป็นการเตือนสติไม่ให้ปฏิเสธพระเยซูแบบเปโตร การรับประกายเพชรจากสวรรค์ โดยผู้เทศน์จะอธิษฐานเผื่อ แล้วเพชรหรือวัตถุเล็กอะไรสักอย่างที่เป็นประกายเม็ดเล็กๆ ขนาดประมาณปลายเข็มหมุดก็จะปรากฏที่ผิวหรือศีรษะของผู้รับการอธิษฐาน การนอนทับหลุมศพของผู้รับใช้ในอดีตเพื่อซึมซับวิญญาณ (Grave Sucking) รับการเจิมเป็นสองเท่า ประมาณนั้น เป็นต้น

ศิษยาภิบาล และนักศาสนศาสตร์ จากกลุ่มต่างๆ ออกมาเตือนสติการแสดงออกของกลุ่มที่เชื่อในพระวิญญาณในลักษณะนี้อยู่หลายต่อหลายครั้ง เพราะทำให้เกิดความเข้าใจผิดพระเจ้าต่อคนที่ยังไม่เชื่อ ไม่สำแดงพระลักษณะพระเจ้า ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อการประกาศพระกิตติคุณ และทำให้ผู้เชื่อคาดหวังการแสดงออกภายนอกมากกว่าการเปลี่ยนแปลงชีวิตตามพระวจนะ แต่การสำแดงก็ยังคงอยู่ และคริสตจักรในประเทศไทยหลายแห่งก็รับมาปฏิบัติกันโดยให้เหตุผลว่าเป็นการช่วยให้เกิดการรื้อฟื้นเยียวยาทางจิตวิญญาณ

คริสเตียนจึงต้องมีวิจารณญาณตามหลักการพระคัมภีร์ในการพิจารณาการสำแดงดังกล่าวว่าถูกต้องตามหลักการและพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีต่อผู้เชื่อและคริสตจักรหรือไม่ เพื่อจะไม่ตกอยู่ในสภาพเหยื่อของจิตวิทยาแบบมนุษย์ที่เล่นกับอารมณ์และการแสดงออกจนส่งผลกระทบต่อความยึดมั่นถือมั่นในการแสดงออกทางความเชื่อในพระวิญญาณ

แท้จริงเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ได้เกิดขึ้นกับผู้เชื่อชาวโครินธ์ในคริสตจักรสมัยแรก ซึ่ง อ.เปาโลได้เตือนสติ และให้แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องไว้แล้ว

ฉะนั้นให้เราพิจารณาเหตุการณ์ในที่นี้ได้กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ เพื่อเราจะสามารถค้นพบหลักการในการประเมินการเหตุการณ์การแสดงออกในพระวิญญาณในคริสตจักรที่เหมาะสมและสมดุล และเมื่อเราพบกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้ เราจะสามารถพิจารณาการแสดงออกนั้นๆ อย่างมีความเข้าใจ

หลักการวินิจฉัยแสดงออกในพระวิญญาณในที่ประชุมคริสตจักร

1.การแสดงออกในพระวิญญาณจะต้อง “ถวายเกียรติพระเจ้า”

หมายถึงการแสดงออกนั้นๆ มีแนวโน้มที่สามารถเสริมสร้างคนให้จำเริญขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้ความรู้ และได้รับการหนุนใจ

โครินธ์ 14:26 ดูก่อนพี่น้องทั้งหลายจะว่าอย่างไรกัน เมื่อท่านประชุมกัน บางคนก็มีเพลงสดุดี บางคนก็มีคำสั่งสอน บางคนก็มีคำวิวรณ์ บางคนก็พูดภาษาแปลกๆ บางคนก็แปลข้อความ ท่านจงกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้เขาจำเริญขึ้น

เป็นประโยชน์ฝ่ายวิญญาณในตอนนี้ไม่ได้พยายามปฏิเสธการสำแดงของพระวิญญาณ แต่ตอนนี้กล่าวว่า “...ท่านจงกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้เขาจำเริญขึ้น” กำลังพูดถึงการวางทุกสิ่งให้อยู่น้ำหนักที่เหมาะสมตามโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นพร และถวายเกียรติพระเจ้า ไม่ใช่ทำเพื่อสนองความต้องการโดยเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ตัวอย่างเช่น

หลายครั้งเมื่อเราสามารถสัมผัสการทรงนำของพระเจ้าเพื่อเผยถ้อยคำบางสิ่งบางอย่าง เราต้องพิจารณาให้ดีว่า

- ถ้าเป็นถ้อยคำที่เราจะพูดนั้นเป็นการตรัสของพระเจ้าสำหรับเราส่วนตัวหรือเปล่า ถ้าใช่ก็ให้อธิษฐานส่วนตัวกับพระเจ้าเอง ไม่ต้องเผยในที่ประชุม

- ถ้าเป็นถ้อยคำที่เราจะพูดนั้นเป็นการตรัสของพระเจ้าสำหรับที่ประชุม เราต้องพิจารณาต่อไปว่าการเผยถ้อยคำนั้นๆ จะเป็นพระพรที่สามารถเสริมสร้างที่ประชุมในโอกาสไหนได้มากกว่ากันระหว่างการเผยพระวจนะในที่ประชุม หรือการสอดแทรกเข้าไปในการสอนพระคัมภีร์ เทศนา หรือแบ่งปันพระพร อันไหนเป็นที่หนุนน้ำใจได้มากกว่าให้ใช้โอกาสนั้นๆ ด้วยความกล้าหาญ

การแสดงออกในพระวิญญาณในเรื่องอื่นๆ เช่นกัน การถวายเกียรติพระเจ้าสำคัญมากกว่าการพยายามแสดงออก และการกระทำหลายอย่างในปัจจุบันที่อ้างว่าต้องแสดงออกในลักษณะนั้นๆ หลายครั้งก็ไม่ได้ถวายเกียรติพระเจ้าอย่างแท้จริง ผู้รับใช้พระเจ้าต้องให้พระเจ้าเป็นศูนย์กลางในทุกสิ่ง ไม่ใช่ทำตามความต้องการของตัวเอง หรือทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ


2. การแสดงออกในพระวิญญาณจะต้อง “อยู่ในระเบียบของคริสตจักร” เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายในการประชุม

โครินธ์ 14:27-30 ถ้าผู้ใดจะพูดภาษาแปลกๆ จงให้พูดเพียงสองคนหรืออย่างมากที่สุดก็สามคน และให้พูดทีละคน และให้อีกคนหนึ่งแปล แต่ถ้าไม่มีผู้ใดแปลได้ก็ให้คนเหล่านั้นอยู่เงียบๆ ในที่ประชุม และให้พูดกับตัวเอง และทูลต่อพระเจ้า ฝ่ายพวกผู้เผยพระวจนะนั้นให้พูดสองคนหรือสามคน และให้คนอื่นวินิจฉัยข้อความที่เขาพูดนั้น ถ้ามีสิ่งใดทรงสำแดงแก่คนอื่นที่นั่งอยู่ด้วยกัน ให้คนแรกนั้นนิ่งเสียก่อน

คริสเตียนที่มีความเข้าใจ ไม่ใช่อยากจะทำอะไรก็ทำ อยากจะสำแดงอะไรก็สำแดง แล้วอ้างว่าพระวิญญาณให้ทำ ใครมาห้ามหรือปรามก็ต่อว่าว่าดับพระวิญญาณ อยากจะล้มก็ล้ม อยากจะเผยพระวจนะเวลาไหนก็ออกไปเผย อยากจะทำเป็นอาเจียนก็ทำ อยากจะร้องเสียงดังก็ร้องออกมาเลย นั่นไม่ใช่พระลักษณะพระเจ้าในความเป็นระเบียบ

พระวิญญาณจะไม่ทำอะไรขัดกับพระลักษณะของพระองค์ หากพระองค์เป็นพระเจ้าที่เป็นระบบระเบียบ พระองค์ย่อมไม่ทำอะไรให้เกิดความวุ่นวายในการประชุม

ความวุ่นวายนี้ยังหมายถึงการแสดงออกที่รบกวนวัตถุประสงค์เจาะจงในการสื่อสารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วย

เปโตรได้อธิบายเหตุการณ์การแสดงออกในพระวิญญาณซึ่งขณะนั้นเป็นเรื่องใหม่ของคริสตจักร นอกจากจะอธิบายเหตุการณ์ตามหลักพระคัมภีร์แล้ว เปโตรยังยกย่องพระเยซูคริสต์ท่ามกลางคนเป็นอันมาก และใช้โอกาสนี้เป็นพยานถึงพระกิตติคุณของพระเจ้าด้วย

กิจการฯ 2:33 เหตุฉะนั้นเมื่อทรงเชิดชูพระองค์ขึ้นอยู่ที่พระหัตถ์เบื้องขวาของพระเจ้า และครั้นพระองค์ได้ทรงรับพระวิญญาณบริสุทธิ์จากพระบิดาตามพระสัญญา พระองค์ได้ทรงเทฤทธิ์เดชนี้ลงมา ดังที่ท่านทั้งหลายได้ยิน และเห็นแล้ว

โยเอล 2:28 ต่อมาภายหลังจะเป็นอย่างนี้ คือเราจะเทพระวิญญาณของเรามาเหนือมนุษย์ทั้งปวงบุตรชายบุตรหญิงของเจ้าทั้งหลายจะเผยพระวจนะ คนชราของเจ้าจะฝัน และคนหนุ่มของเจ้าจะเห็นนิมิต

กิจการฯ 2:38 ฝ่ายเปโตรจึงกล่าวแก่เขาว่า "จงกลับใจใหม่และรับบัพติศมาในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคนเพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปของท่านเสีย แล้วท่านจะได้รับพระราชทานพระวิญญาณบริสุทธิ์


3. การแสดงออกในพระวิญญาณใดใดต้อง “มีการชันสูตร” โดยผู้ที่มีความเข้าใจในฝ่ายวิญญาณ

1 โครินธ์ 14:32 วิญญาณของพวกผู้เผยพระวจนะนั้น ย่อมอยู่ในบังคับพวกผู้เผยพระวจนะ

การแสดงออกในพระวิญญาณในตอนนี้พูดถึงการเผยพระวจนะ ที่ยังต้องยอมรับการพิสูจน์โดยพวกผู้เผยวจนะ คำว่า “พวก” หมายถึงต้องยอมรับการพิสูจน์ถ้อยคำจากผู้เผยพระวจนะหลายคน

เช่นเดียวกัน การแสดงออกในพระวิญญาณใดใดต้องยอมรับการปกคลุม ยอมรับการชันสูตรจากผู้ที่มีความเข้าใจฝ่ายวิญญาณหลายคน จนกระทั่งมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้มาจากพระเจ้าอย่างแน่นอน

สัญลักษณ์หนึ่งของคนที่มีการทรงสถิตของพระวิญญาณคือคนที่เชื่อฟังพระวจนะพระเจ้า ฉะนั้นเครื่องมือพิสูจน์วิญญาณจึงเป็นพระวจนะพระเจ้าที่จะตัดสินทุกอย่าง เราจึงสามารถรู้ได้ว่าการแสดงออกในพระวิญญาณนั้นๆ จริงหรือเท็จอย่างไรก็ด้วยพระวจนะ

1 ยอห์น 3:24 และทุกคนที่ประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์ก็อยู่ในพระองค์ และพระองค์ทรงสถิตอยู่ในคนนั้น เหตุฉะนี้เราจึงรู้ว่าพระองค์ทรงสถิตอยู่ในเราคือโดยพระวิญญาณ ซึ่งพระองค์ทรงโปรดประทานแก่เรา

เราหลายครั้งเป็นความคิดของมนุษย์ เป็นการแสดงออกจากความรู้สึกทางจิตใจมากกว่าการกระทำโดยพระวิญญาณจริงๆ

พระวิญญาณบริสุทธิ์จะไม่นำเราไปถึงจุดที่เราไม่สามารถควบคุมตนเองได้ทั้งร่างกาย ความคิด หรือเสียงของเราที่ผิดปกติไป สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากพระวิญญาณ แต่มาจากตัวเราที่อาจเรียกร้องความสนใจ หรือก้าวไปในความรู้สึกร่วมที่ “เกินความพอดี” จนแสดงออกในทางที่ไม่ปกติ และหลายครั้งก็ด้วยความจริงใจ 

เราจึงจำเป็นต้องตรวจสอบ ชันสูตรทุกวิญญาณ และไม่ยอมรับหากวิญญาณนั้นไม่ได้มาจากพระเจ้าแต่มาจากแหล่งอื่นซึ่งอาจเป็นตัวเราเองหรือมารซาตานก็ได้


4. การแสดงออกในพระวิญญาณใดใดจะ “สะท้อนพระลักษณะพระเจ้า”

พระลักษณะพระเจ้าที่เจาะจงในตอนนี้คือ ความสงบสุขไม่วุ่นวาย สะท้อนสันติสุขในพระเจ้า

1 โครินธ์ 14:33 เพราะว่าพระเจ้าไม่ใช่พระเจ้าแห่งการวุ่นวาย แต่ทรงเป็นพระเจ้าแห่งสันติสุข ตามที่ปฏิบัติกันอยู่ใน คริสตจักรแห่งธรรมิกชนนั้น

พระวิญญาณจะไม่ทำอะไรขัดกับพระลักษณะของพระองค์ หากพระองค์เป็นพระเจ้าที่เป็นระบบระเบียบ พระองค์ย่อมไม่ทำอะไรให้เกิดความวุ่นวายในการประชุม

ตัวอย่างการแสดงออกที่ไม่ได้สะท้อนความหมายที่แท้จริงที่พระคัมภีร์สอน

- การหัวเราะที่ควบคุมตัวไม่ได้ (Holy Laugh)

อ้างว่าพระเจ้าประทานความยินดีอย่างเปี่ยมล้นจนควบคุมไม่ได้ แต่พระลักษณะพระเจ้าคือความสุภาพอ่อนน้อม การรู้จักบังคับตน

2 ทิโมธี 1:7 เพราะว่าพระเจ้ามิได้ทรงประทานจิตที่ขลาดกลัวให้เรา  แต่ได้ทรงประทานจิตที่กอปรด้วยฤทธิ์ความรัก  และการบังคับตนเองให้แก่เรา

กาลาเทีย 5:23 ความสุภาพอ่อนน้อม  การรู้จักบังคับตน  เรื่องอย่างนี้ไม่มีธรรมบัญญัติห้ามไว้เลย

- การทำท่าทางอาเจียน (Crunching)

หมายถึงพระวิญญาณกระตุ้นให้ขับความชั่วร้ายและความบาปออกไปจากร่างกายโดยอาเจียนออกมา

การจัดการกับความบาปเป็นเรื่องของการตัดสินใจของเราที่จะละทิ้งบาป ไม่ได้มาจากการอาเจียนทางกายภาพเอาความบาปออก

เอเฟซัส 4:22 ท่านจงทิ้งตัวเก่าของท่าน  ซึ่งคู่กับวิถีชีวิตเดิมนั้นเสีย  อันจะเสื่อมเสียไปสู่ความตายตามตัณหาอันเป็นที่หลอกลวง

- การล้มในพระวิญญาณ (Slain in the Spirit) โดยให้ความหมายว่าพระวิญญาณเสด็จมาประหารตัวเก่า ความบาป ชีวิตเก่าให้ตาย

หากจะแปลความเรื่องการประหารความบาป น่าจะหมายถึงการตัดสินใจของเราร่วมกับการสนับสนุนของพระวิญญาณให้สามารถหันเสียจากบาปมากกว่า ไม่ใช่การล้มลงในนอนที่พื้นทุกครั้ง

โคโลสี 3:5 เหตุฉะนั้นจงประหารโลกียวิสัยในตัวท่านเสีย  มีการล่วงประเวณี  การโสโครก  ราคะตัณหา  ความปรารถนาชั่ว  และความโลภ  ซึ่งเป็นการนับถือรูปเคารพ

ทิตัส 3:5 พระองค์ได้ทรงช่วยเราให้รอด  มิใช่ด้วยการกระทำที่ชอบธรรมของเราเอง  แต่พระองค์ทรงพระกรุณาชำระให้เรามีใจบังเกิดใหม่  และทรงสร้างเราขึ้นมาใหม่  โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์

ความเข้าใจในการแสดงออกในพระวิญญาณจะช่วยให้คริสตจักรเป็นระเบียบเรียบร้อย สงบสุข สะท้อนพระประสงค์พระเจ้า ไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายจนผู้ที่ยังไม่เป็นคริสเตียนเข้าใจผิดคริสเตียนหรือพระเจ้า ขณะเดียวกันก็ให้เสรีภาพอย่างเหมาะสมตามหลักการพระคัมภีร์ ซึ่งส่งเสริมให้แผนการยิ่งใหญ่ของพระเจ้าเกิดความก้าวหน้าในคริสจักรและถวายเกียรติพระเจ้าเสมอ

อ้างอิง

Bartleman, Frank. (1980). Azusa Street. NJ: Logos International.

Jacob, Michael. (2011). “The Four And Twenty Elders.” [Online]. Available: http://www.wogim.org/r24elder.htm.

Tenney, Merrill C.. (1985). New Testament Survey (revised). MI: Eerdmans.

West, Marsha. (2010). “Damnable Heresies Invading the Church.”, Conservative Crusader Vol. 25 May 2010.

ชมรมนักคิดคริสเตียนไทย (2019). ถาม-ตอบเรื่อง : พระวิญญาณบริสุทธิ์. กรุงเทพฯ: BSC Books.

นิชิโมโตะ,  โรเบิร์ต. (1996). ประวัติเพ็นเทคอส และคาริสเมติกในประเทศไทย, กรุงเทพฯ: ประชุมทองการพิมพ์.

ความคิดเห็น