บัพติศมาด้วยไฟ ความเข้าใจที่คริสเตียนควรพิจารณาให้ดี

เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชนม์ ทรงสั่งสอนสาวกอีก 40 วัน จากนั้นประทานพระมหาบัญชา และได้กำชับสาวกให้รออยู่ก่อนเพื่อรับฤทธิ์เดชจากเบื้องบนคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่พระองค์จะประทานหลังจากพระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ไปแล้ว (กจ.1:3-4)

ในวันเพ็นเทคอสต์ ฤทธิ์เดชของพระวิญญาณฯ ได้เทลงมายังสาวกที่รอคอยอยู่ในเวลานั้น ต่างคนต่างพูดภาษาอื่นๆ ตามที่พระวิญญาณโปรดให้พูด (กจ.2:1-4) เป็นภาษาที่ชาวยิวและชาวต่างชาติผู้เข้ารีตยิวจากหลายประเทศแปลกใจว่าทำไมชาวกาลิลีถึงสามารถกล่าวคำสรรเสริญพระเจ้าในภาษาของเขาได้ จริงๆ เราพบว่าพระวิญญาณฯ เป็นผู้จุดไฟแห่งงานพันธกิจสนับสนุนพระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์ เพราะภาษาอื่นๆ ที่สาวกพูด เป็นภาษาของพวกยิวที่กระจายไปทั้งโลก ณ เวลานั้น

ปรากฏการณ์การบัพติศมาด้วยพระวิญญาณในวันนั้นทำให้เกิดคำอธิบายและข้อพิจารณาที่หลากหลายตลอดมาโดยเฉพาะเมื่อเกิดกลุ่มเพ็นเทคอสต์ขึ้นในราวศตวรรษที่ 20 กลุ่มนี้เชื่อเรื่องการบัพติศมาด้วยพระวิญญาณโดยถือว่าการพูดภาษาแปลกๆ เป็นหมายสำคัญ จนถึงปรากฏการณ์ต่อยอดเป็นบัพติศมาด้วยไฟที่เป็นข้อถกเถียงในปัจจุบัน

บัพติศมาด้วยไฟคืออะไร?

คำว่า "บัพติศมา" ใช้ในพระคัมภีร์ใหม่ในความหมายของพิธีที่แสดงการกลับใจจากพฤติกรรมบาป แสดงความตั้งใจจริงที่จะเป็นคนใหม่ (มธ.3:6; มก.1:4) โดยมีผู้ที่เป็นที่ยอมรับเป็นผู้ทำพิธีและผู้รับลงไปจุ่มในแม่น้ำตามความตั้งใจดังกล่าว พระเยซูทรงรับบัพติศมากับยอห์นผู้ให้บัพติศมาเพื่อให้ความชอบธรรมครบถ้วนทุกประการคือการรับรองจากพระบิดาและพระวิญญาณในฐานะพระองค์เป็นพระบุตรเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้คนรวมทั้งยอห์นผู้ให้บัพติศมา (มธ.3:13-17; มก.9-11; ลก.3:22; ยน.1:29-34) การรับบัพติศมาในลักษณะนี้ยังเรียกว่าบัพติศมาของยอห์นซึ่งถูกกล่าวถึงภายหลังที่พระเยซูประสบเกียรติกิจแล้วด้วย (กจ.18:25; 19:3)

"บัพติศมาด้วยน้ำ" มักกล่าวเมื่อมีการใช้คู่กับคำว่าบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ เพราะเป็นปกติที่เมื่อมีการกล่าวถึงบัพติศมา จะหมายถึงน้ำอยู่แล้ว (มธ.3:11; มก.1:8; ลก.3:16; ยน.1:33; กจ.1:5)

"บัพติศมาด้วยพระวิญญาณ" เป็นภาวะที่ผู้ที่เชื่อวางใจในพระเยซูในฐานะพระผู้ไถ่ได้รับเพื่อบังเกิดใหม่ฝ่ายวิญญาณ โดยการเสด็จมาของพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเข้ามาในชีวิตผู้เชื่อเพื่อเขาจะรับการบังเกิดใหม่ พระวิญญาณยังทรงเป็นพยานรับรองว่าเราเป็นลูกพระเจ้า (รม.8:16) และผู้ได้รับพระวิญญาณจะได้รับการสร้างใหม่โดยพระวิญญาณ (ทิตัส 3:5-6)

"บัพติศมาด้วยไฟ" คำนี้ไม่พบในความหมายของรูปแบบหนึ่งของการบัพติศมาที่แยกออกอย่างชัดเจนในพระคัมภีร์ แต่พบในการใช้คู่กับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณในความหมายของการพิพากษาในนรกบึงไฟหากไม่กลับใจ (มธ.3:11-12; ลก.3:16-17)

กลุ่มผู้เชื่อในบัพติศมาด้วยไฟจะคลุมเครือในความหมายของการบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ การกลับใจใหม่ การบังเกิดใหม่ ฤทธิ์เดชหมายสำคัญ และความกระตือรือร้นในพระวิญญาณ ซึ่งความจริงอธิบายได้ไม่ยาก เพราะเมื่อเราได้รับพระวิญญาณเข้ามาในชีวิต เราได้รับการบังเกิดใหม่ ถูกสร้างขึ้นใหม่ ฤทธิ์เดชหมายสำคัญเป็นการกระทำของพระวิญญาณผ่านผู้เชื่อ ความกระตือรือร้นเป็นความตั้งใจอย่างมากที่อยากเห็นพระราชกิจสำเร็จ เป็นต้น

ความเชื่อเรื่องบัพติศมาด้วยไฟมีที่มาอย่างไร?

เรื่องนี้เป็นการต่อยอดจากความเชื่อของกลุ่มเพ็นเทคอสต์ (Pentecostalism) ที่เชื่อเรื่องการบัพติศมาด้วยพระวิญญาณโดยมีหมายสำคัญคือการพูดภาษาแปลกๆ กลุ่มเพ็นเทคอสต์เป็นโปรเตสแตนต์สายหนึ่งที่เกิดขึ้นราวศตวรรษที่ 20 ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยในตั้งแต่ปี ค.ศ.1938 แล้วเช่นกัน

ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ในปี ค.ศ.1994 เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในคริสตจักรวินยาร์ด (Vineyard Church) ซึ่งเป็นคริสตจักรเพ็นเทคอสต์ เมืองโทรอนโต ประเทศแคนนาดา คนในโบสถ์อยู่ในลักษณะเมามายในพระวิญญาณ (Drunk in the Spirit) หัวเราะ ตัวสั่น ส่งเสียงคำรามเหมือนสิงโต เต้นรำไปมา บางคนก็ยืนตัวแข็งทื่อ บางคนล้มตัวลงนอน ใการวางมือขับผีโดยผู้ที่รับการวางมือจะอาเจียนแสดงว่าผีออกไปแล้ว เป็นต้น ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าโทรอนโต เบลสซิ่ง (Toronto Blessing) ซึ่งเป็นที่สงสัยและถูกตั้งคำถามมากมายจากนักวิชาการพระคัมภีร์ว่าการกระทำเหล่านี้ไม่พบในพระคัมภีร์อย่างมีนัยยะ หรือสะท้อนพระลักษณะพระเจ้าอย่างไร ทั้งยังไม่สนับสนุนสิ่งที่อาจารย์เปาโลเตือนเรื่องการแสดงออกในการประชุมอย่างเป็นระเบียบ (1 คร.14:26-40)

เหตุการณ์นี้ได้เผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็วเพราะเป็นที่สนใจจากคริสเตียนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เกิดการต่อยอดในกลุ่มเพ็นเทคอสต์ที่เดิมมีการพูดภาษาแปลกๆ เป็นหมายสำคัญของการรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ การวางมือรักษาโรคอย่างอัศจรรย์ การอธิษฐานออกเสียง เป็นการล้มในพระวิญญาณ การหัวเราะ ไปจนถึงการอาเจียนเมื่อขับผี อย่างไรก็ตามหลายเรื่องไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพ็นเทคอสต์ กลุ่มนี้จึงเแยกตัวออกมาอย่างหลวมๆ เป็นกลุ่มใหม่ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นสายบัพติศมาด้วยไฟต่อยอดจากบัพติศมาด้วยพระวิญญาณของกลุ่มเพ็นเทคอสต์ (กลุ่มนี้ถูกเรียกโดยสื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "โบสถ์สายไฟ")

กลุ่มบัพติศมาด้วยไฟมีอะไรที่น่าวิตก?

1. การรับไฟ (พระวิญญาณ) ที่มีความหมายคลุมเครือ

หากการรับไฟ หมายถึงบัพติศมาด้วยพระวิญญาณเพื่อบังเกิดใหม่ อันนี้เข้าใจได้ แต่ผู้เชื่อในกลุ่มนี้จะเข้าใจว่าเป็นการรับบัพติศมาด้วยไฟที่ต่อยอดจากบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่สำคัญกว่า และมีความหมายลามไปถึงเรื่องความรอด คือตีความว่าใครที่ยังไม่ได้รับไฟคือยังไม่มีพระวิญญาณผู้ประทานความรอด

พระคัมภีร์ไม่ได้ให้ทัศนะแบบนั้น เพราะการเชื่อวางในในพระเยซูคริสต์เราได้รับความรอดแล้ว พระองค์ทรงประทานพระวิญญาณเพื่อการบังเกิดใหม่ทันทีที่เราเชื่อ เป็นการประทานที่บริบูรณ์แล้วโดยพระเยซู ไม่จำเป็นต้องรับไฟอีก

ทิตัส 3:5-6 พระองค์ก็ทรงช่วยเราให้รอด ไม่ใช่เพราะความชอบธรรมที่เราทำเอง แต่ด้วยพระเมตตาของพระองค์โดยผ่านการชำระให้บังเกิดใหม่และสร้างใหม่ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระวิญญาณองค์นี้แหละที่พระเจ้าประทานให้แก่เราอย่างบริบูรณ์ผ่านทางพระเยซูคริสต์พระผู้ช่วยให้รอดของเรา

2. การเน้นประสบการณ์ที่อธิบายยากว่าสะท้อนพระลักษณะพระเจ้าอย่างไร

พระลักษณะพระเจ้าที่ควรสะท้อนเจาะจงในประสบการณ์ของกลุ่มบัพติศมาด้วยไฟ คือ ความสงบสุขไม่วุ่นวาย สะท้อนสันติสุขในพระเจ้า ซึ่งพระคัมภีร์ให้ทัศนะว่าพระวิญญาณจะไม่ทำอะไรขัดกับพระลักษณะของพระองค์ หากพระองค์เป็นพระเจ้าที่เป็นระบบระเบียบ พระองค์ย่อมไม่ทำอะไรให้เกิดความวุ่นวายในการประชุม

1 โครินธ์ 14:33 เพราะว่าพระเจ้าไม่ใช่พระเจ้าแห่งการวุ่นวาย แต่ทรงเป็นพระเจ้าแห่งสันติสุข ตามที่ปฏิบัติกันอยู่ใน คริสตจักรแห่งธรรมิกชนนั้น

พฤติกรรมการแสดงออกที่อธิบายยากว่าสะท้อนความหมายนี้ โดยหลักๆ ได้แก่

"การหัวเราะที่ควบคุมตัวไม่ได้ (Holy Laugh)" โดยกลุ่มนี้อ้างว่าพระเจ้าประทานความยินดีอย่างเปี่ยมล้นจนควบคุมไม่ได้ แต่พระลักษณะพระเจ้าคือความสุภาพอ่อนน้อม การรู้จักบังคับตน แต่พระคัมภีร์สอนว่าเราบังคับตนได้ (2 ทธ.1:7; กท.5:23)

"การทำท่าทางอาเจียน (Crunching)" ที่หมายถึงพระวิญญาณกระตุ้นให้ขับความชั่วร้ายและความบาปออกไปจากร่างกายโดยอาเจียนออกมา แต่แท้จริงการจัดการกับความบาปเป็นเรื่องของการตัดสินใจละทิ้งบาป ไม่ได้มาจากการอาเจียนทางกายภาพเอาความบาปออก (อฟ.4:22)

"การล้มในพระวิญญาณ (Slain in the Spirit)" โดยให้ความหมายว่าพระวิญญาณเสด็จมาประหารตัวเก่า ความบาป ชีวิตเก่าให้ตาย ถ้าจะแปลความเรื่องการประหารความบาปให้ถูกต้องตามพระคัมภีร์ น่าจะหมายถึงการตัดสินใจของเราร่วมกับการสนับสนุนของพระวิญญาณให้สามารถหันเสียจากบาปมากกว่า ไม่ใช่การล้มลงในนอนที่พื้นทุกครั้ง (คส.3:5; ทต.3:5)

3. การปกป้องตัวเองมากจนเกินไป

เนื่องจากการแสดงออกที่โฉงฉ่างอ้างพระนามพระเจ้า ทำให้ถูกตั้งข้อสงสัยและถูกตรวจสอบโดยสังคมคริสเตียนด้วยพระคัมภีร์มากมายหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ผู้นำกลุ่มนี้ออกมาตอบโต้ด้วยความร้อนแรง มีการต่อว่ากลับ ใช้พระคัมภีร์อย่างผิดบริบท ไปจนถึงเยาะเย้ยว่าคริสตจักรที่ไม่มีการแสดงออกแบบนี้เป็นคริสตจักรที่ไม่ฟื้นฟู ไม่มีพระวิญญาณ ต้องกลับใจใหม่ เป็นต้น

ความจริงไม่ว่าเราจะมองว่าการพูดภาษาแปลกๆ เป็นหมายสำคัญ หรือของประทานการเผยพระวจนะ หรือการวางมือรักษาโรค การใช้ของประทานฤทธิ์เดชหมายสำคัญ หรืออื่นๆ ที่วินิจฉัยแล้วโดยพระวจนะ ล้วนมาโดยพระคุณและโดยพระวิญญาณองค์เดียวกัน ฉะนั้นการแสดงออกเหล่านี้จะต้องไม่ทำให้เกิดการแบ่งแยก เปรียบเทียบ เหลื่อมล้ำ หรือไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในพระวรกาย แต่ควรใช้เพื่อเสริมสร้างกันจะเป็นพรมากกว่า (อฟ.4:3,7; 1 คร.14:26)

เมื่อเราพบเห็นการแสดงออกในพระวิญญาณในที่ประชุม เราควรมีวิจารณญาณอย่างไร?

1. การแสดงออกในพระวิญญาณนั้นๆ “สะท้อนพระลักษณะพระเจ้า” หรือไม่อย่างไร

พระวิญญาณจะไม่ทำอะไรขัดกับพระลักษณะของพระองค์ หากพระองค์เป็นพระเจ้าที่เป็นระบบระเบียบ พระองค์ย่อมไม่ทำอะไรให้เกิดความวุ่นวายในการประชุม ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

1 โครินธ์ 14:33 เพราะว่าพระเจ้าไม่ใช่พระเจ้าแห่งการวุ่นวาย แต่ทรงเป็นพระเจ้าแห่งสันติสุข ตามที่ปฏิบัติกันอยู่ใน คริสตจักรแห่งธรรมิกชนนั้น

2. การแสดงออกในพระวิญญาณนั้น "ถวายเกียรติพระเจ้า" หรือไม่อย่างไร

หมายถึงการแสดงออกนั้นๆ มีแนวโน้มที่สามารถเสริมสร้างคนให้จำเริญขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้ความรู้ และได้รับการหนุนใจ

1 โครินธ์ 14:26 ดูก่อนพี่น้องทั้งหลายจะว่าอย่างไรกัน เมื่อท่านประชุมกัน บางคนก็มีเพลงสดุดี บางคนก็มีคำสั่งสอน บางคนก็มีคำวิวรณ์ บางคนก็พูดภาษาแปลกๆ บางคนก็แปลข้อความ ท่านจงกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้เขาจำเริญขึ้น

เป็นประโยชน์ฝ่ายวิญญาณในตอนนี้ไม่ได้พยายามปฏิเสธการสำแดงของพระวิญญาณ แต่ตอนนี้กล่าวว่า “...ท่านจงกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้เขาจำเริญขึ้น” กำลังพูดถึงการวางทุกสิ่งให้อยู่น้ำหนักที่เหมาะสมตามโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นพร และถวายเกียรติพระเจ้า ไม่ใช่ทำเพื่อสนองความต้องการโดยเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ผู้รับใช้พระเจ้าต้องให้พระเจ้าเป็นศูนย์กลางในทุกสิ่ง ไม่ใช่ทำตามความต้องการของตัวเอง หรือทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ

3. การแสดงออกในพระวิญญาณ “อยู่ในระเบียบของคริสตจักร” หรือไม่อย่างไร

1 โครินธ์ 14:27-30 ถ้าผู้ใดจะพูดภาษาแปลกๆ จงให้พูดเพียงสองคนหรืออย่างมากที่สุดก็สามคน และให้พูดทีละคน และให้อีกคนหนึ่งแปล แต่ถ้าไม่มีผู้ใดแปลได้ก็ให้คนเหล่านั้นอยู่เงียบๆ ในที่ประชุม และให้พูดกับตัวเอง และทูลต่อพระเจ้า ฝ่ายพวกผู้เผยพระวจนะนั้นให้พูดสองคนหรือสามคน และให้คนอื่นวินิจฉัยข้อความที่เขาพูดนั้น ถ้ามีสิ่งใดทรงสำแดงแก่คนอื่นที่นั่งอยู่ด้วยกัน ให้คนแรกนั้นนิ่งเสียก่อน

คริสเตียนที่มีความเข้าใจ ไม่ใช่อยากจะทำอะไรก็ทำ อยากจะสำแดงอะไรก็สำแดง แล้วอ้างว่าพระวิญญาณให้ทำ ใครมาห้ามหรือปรามก็ต่อว่าว่าดับพระวิญญาณ อยากจะล้มก็ล้ม อยากจะเผยพระวจนะเวลาไหนก็ออกไปเผย อยากจะทำเป็นอาเจียนก็ทำ อยากจะร้องเสียงดังก็ร้องออกมาเลย นั่นไม่ใช่พระลักษณะพระเจ้าในความเป็นระเบียบ

พระวิญญาณจะไม่ทำอะไรขัดกับพระลักษณะของพระองค์ หากพระองค์เป็นพระเจ้าที่เป็นระบบระเบียบ พระองค์ย่อมไม่ทำอะไรให้เกิดความวุ่นวายในการประชุม

ความวุ่นวายนี้ยังหมายถึงการแสดงออกที่รบกวนวัตถุประสงค์เจาะจงในการสื่อสารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วย

เปโตรได้อธิบายเหตุการณ์การแสดงออกในพระวิญญาณซึ่งขณะนั้นเป็นเรื่องใหม่ของคริสตจักร นอกจากจะอธิบายเหตุการณ์ตามหลักพระคัมภีร์แล้ว เปโตรยังยกย่องพระเยซูคริสต์ท่ามกลางคนเป็นอันมาก และใช้โอกาสนี้เป็นพยานถึงพระกิตติคุณของพระเจ้าด้วย

กิจการฯ 2:38 ฝ่ายเปโตรจึงกล่าวแก่เขาว่า "จงกลับใจใหม่และรับบัพติศมาในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคนเพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปของท่านเสีย แล้วท่านจะได้รับพระราชทานพระวิญญาณบริสุทธิ์

4. การแสดงออกในพระวิญญาณนั้น “ได้รับการชันสูตร” โดยผู้ที่มีความเข้าใจในฝ่ายวิญญาณหรือไม่อย่างไร

คริสตจักรจำเป็นต้องตรวจสอบ ชันสูตรทุกวิญญาณ และไม่ยอมรับหากวิญญาณนั้นไม่ได้มาจากพระเจ้าแต่มาจากแหล่งอื่นซึ่งอาจเป็นเนื้อหนังหรือมารซาตาน

1 โครินธ์ 14:32 วิญญาณของพวกผู้เผยพระวจนะนั้น ย่อมอยู่ในบังคับพวกผู้เผยพระวจนะ

การแสดงออกในพระวิญญาณในตอนนี้พูดถึงการเผยพระวจนะ ที่ยังต้องยอมรับการพิสูจน์โดยพวกผู้เผยวจนะ คำว่า “พวก” หมายถึงต้องยอมรับการพิสูจน์ถ้อยคำจากผู้เผยพระวจนะหลายคน เช่นเดียวกัน การแสดงออกในพระวิญญาณใดใดต้องยอมรับการปกคลุม ยอมรับการชันสูตรจากผู้ที่มีความเข้าใจฝ่ายวิญญาณหลายคน จนกระทั่งมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้มาจากพระเจ้าอย่างแน่นอน

สัญลักษณ์หนึ่งของคนที่มีการทรงสถิตของพระวิญญาณคือคนที่เชื่อฟังพระวจนะพระเจ้า ฉะนั้นเครื่องมือพิสูจน์วิญญาณจึงเป็นพระวจนะพระเจ้าที่จะตัดสินทุกอย่าง เราจึงสามารถรู้ได้ว่าการแสดงออกในพระวิญญาณนั้นๆ จริงหรือเท็จอย่างไรก็ด้วยพระวจนะ (1 ยน.3:24)

สรุป

แม้ความเชื่อของคริสเตียนมีกลุ่มที่หลากหลาย แต่ทุกกลุ่มที่เชื่ออย่างถูกต้องยืนยันในหลักข้อเชื่อของอัครทูต และหลักข้อเชื่อเรื่องตรีเอกานุภาพ (Apostles' Creed และ Athanasius Creed) ซึ่งเป็นหลักข้อเชื่อสากลที่ว่าด้วยความเชื่อเรื่องพระเจ้าองค์เดียว ตรีเอกานุภาพ ความบาปของมนุษย์ ความรอดที่มาโดยพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า วาระสุดท้าย ชีวิตนิรันดร์ การพิพากษา เป็นต้น ส่วนนิกายและประเพณีแม้อาจแตกต่างกันบ้าง แต่หากยืนยันในหลักข้อเชื่อดังกล่าวเราก็ควรให้เกียรติกันในฐานะพี่น้อง และถือว่าความแตกต่างเป็นเพียงเรื่องหยุมหยิมโดยเน้นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของกลุ่มบัพติศมาด้วยไฟ คริสเตียนควรพิจารณาให้ดี เพราะการแสดงออกในพระวิญญาณอย่างเหมาะสมจะอยู่ในระเบียบของคริสตจักร มีสันติสุข สะท้อนพระประสงค์พระเจ้า ไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายจนผู้อื่นที่ยังไม่เป็นคริสเตียนเข้าใจผิดไป ขณะเดียวกันคริสตจักรก็ควรเปิดใจให้เสรีภาพการแสดงออกอย่างเหมาะสมหากการแสดงออกนั้นเป็นตามหลักพระคัมภีร์ ส่งเสริมให้แผนการยิ่งใหญ่ของพระเจ้าเกิดความก้าวหน้าและถวายเกียรติพระเจ้าเสมอ

อ้างอิง

[1] Bartleman, Frank. (1980). Azusa Street. NJ: Logos International.

[2] D. A. Carson. (1991). The Gospel According to John. MI: William B. Eerdmans.

[3] Lightfoot, Joseph Barber. (2014). The Acts of the Apostles: A New Commentary I. IL: InterVarsity Press. 

[4] Papandrea, James L. (2012). Reading the Early Church Fathers From the Didache to Nicaea. NJ: Paulist Press.

[5] Tenney, Merrill C. (1985). New Testament Survey (revised). MI: Eerdmans.

[6] Toronto Blessing. [Online]. (2019). Available: http://en.wikipedia.org/wiki/Toronto_Blessing.

[7] West, Marsha. (2010). “Damnable Heresies Invading the Church.”, Conservative Crusader Vol. 25 May 2010.

[8] ชมรมนักคิดคริสเตียนไทย (2019). ถาม-ตอบเรื่อง : พระวิญญาณบริสุทธิ์. กรุงเทพฯ: BSC Books.

[9] นิชิโมโตะ,  โรเบิร์ต. (1996). ประวัติเพ็นเทคอส และคาริสเมติกในประเทศไทย, กรุงเทพฯ: ประชุมทองการพิมพ์.

ความคิดเห็น