ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาแหล่งทับถมตะกอนอันอุดมสมบูรณ์ อดีต-ปัจจุบัน มองต่างมุมต่างเสียดายโน่นนี่มากมาย แต่การเข้าใจรากเหง้าก็ดีกว่าให้สังคมดำเนินไปโดยปราศจากความเข้าใจ
ลำน้ำเจ้าพระยา ลำน้ำสำคัญที่สุดของประเทศไทยก็ว่าได้ เป็นแหล่งโบราณคดีคู่บ้านคู่เมืองมาโดยตลอดตั้งแต่ละโว้อโยธยาศรีรามเทพนคร อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ แต่เดิมลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของขอมทางฝั่งตะวันตกและอาณาจักรอู่ทองสุพรรณภูมิทางฝั่งตะวันออกจากแม่น้ำท่าจีน
บริเวณดินดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาอุดมสมบูรณ์มาก ป่าชายเลนเป็นแหล่งอาหารทะเลตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนกรุงเทพฯ-ธนบุรี เป็นพื้นที่ทำสวนหมาก สวนผลไม้ต่างๆ สวนทุเรียนราคาสูงตั้งแต่สมัยอยุธยา และเป็นแหล่งปลูกข้าว (แต่น้อยกว่าผลไม้) ชาวบ้านแถบนี้จึงเป็นชาวสวนมากกว่าชาวนาและทำสวนมาโดยตลอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงสมัยปลายรัตนโกสินทร์จึงเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพื่อรองรับความเป็นเมืองในแบบตะวันตกแทน
การทำสวนของคนในพื้นที่นี้ทำให้เกิดการบริหารน้ำขุดคลองมากมายเป็นเมกกะโปรเจ็กหลายครั้งตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา มีการจ้างวิศกรชาวฮอลลันดา โฮมัน แวน เดอร์ ไฮด์ มาเป็นเจ้ากรมคลองหัวหน้าโปรเจ็กวางรากฐานการจัดการน้ำจนเกิดกรมชลประทานในเวลาต่อมา
ความเสียดายเกิดขึ้นเมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนจากน้ำเป็นบก เปลี่ยนจากการขุดคลองเป็นการสร้างถนน อาชีพชาวสวนต้องขายที่ดินเพราะลูกหลานไม่ต้องการทำสวนต่อ รายได้ที่เกิดจากการขายผลไม้สู้รายได้จากการทำอุตสหกรรมไม่ได้อีกต่อไป ผืนดินอุดมสมบูรณ์ถูกกลบด้วยถนนคอนกรีต อาคาร หมู่บ้านจัดสรรราคาแพง ตึกสูง
"ผมไม่รู้ว่าเราต้องเสียดายหรือควรจะเดินหน้าต่อไป" แต่ที่แน่ๆ การพัฒนาพื้นที่แถบนี้หากเข้าใจรากเหง้าอารยธรรม เราจะสามารถปรับตัวเข้ากับยุคปัจจุบันและขายคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากกว่าที่ดินโดยปราศจากเรื่องราวที่ทรงคุณค่า
"ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รากเหง้าแห่งสยามประเทศ" เขียนโดย ศรีศักร วัลลิโภดม และวลัยลักษณ์ ทรงศิริ หนังสือที่ผมอ่านเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 ปี 2567 ความหนา 274 หน้า ระดับความยาก: ง่าย เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวพัฒนาการของสังคมลุ่มน้ำเจ้าพระยา และผู้สนใจทั่วไป
ความคิดเห็น