การสืบเสาะหาที่มาและการผสมผสานชนชาติจนเป็นคำว่าคนไทยในปัจจุบัน โดยทั่วไปเราจะพบการศึกษาแนวประวัติศาสตร์ จารึกโบราณ วรรณกรรมท้องถิ่น รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นต้น แต่การศึกษาความเกี่ยวข้องกันในระดับดีเอ็นเอ เป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ผลของการศึกษาแทบจะคอนเฟิร์มและเพิ่มเติมรายละเอียดที่น่าตื่นเต้นเลยทีเดียว
หนังสืออ่านยากสำหรับผมเพราะเป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์เจาะลึกเรื่องดีเอ็นเอ โครงสร้างโครโมโซม ไมโทรคอนเดรีย และภาษาโบราณ ออสโตรเอเชียติก ออสโตรนีเชียน เอาข้อสรุปเลยดีกว่าครับ
1. ประวัติศาสตร์ทั้งหมดของผู้คนเกิดจากการอพยพจากจุดเดียวกันจากแอฟริกาตอนเหนือแล้วกระจายออกไปตามภูมิภาคต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงในระดับไมโครอีโวลูชั่นเพื่อให้เกิดความอยู่รอดในภูมิภาคต่างๆ เช่น ขนาดตัวเล็กลงเพื่อให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น และเพื่อให้อยู่รอดได้ในสภาวะขาดแคลนอาหารเป็นต้น
2. คนไทยเป็นกลุ่มหนึ่งในชนเป่ยเย่ว์ (คนจีนตอนใต้ที่พูดภาษาตระกูลไท-กะได) เมื่อลงมาบริเวณอนุทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้โอบรับวัฒนธรรมจากชนพื้นถิ่นเดิมคือมอญ-เขมร มีการตั้งถิ่นฐานใหม่และผลักดันมอญ-เขมรออกไป
3. คนไทยภาคกลางส่วนใหญ่เป็นตะกูลไท-กะได มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับมอญ มอญเป็นชนชาติโบราณที่มีส่วนของอินเดียผสมในพันธุกรรมหลัก เป็นหนึ่งในกลุ่มภาษาออสโตรเอเชียติก
4. คนไทยภาคเหนือมีพันธุกรรมหลักเป็นตระกูลไท-กะได แต่มีบางกลุ่มผสมกับกลุ่มออสโตรเอเชียติกอย่างชัดเจนคือมอญและละโว้หรือลัวะซึ่งสอดคล้องกับประวัติศาสตร์วรรณกรรมที่เจ้าแม่จามเทวีซึ่งเป็นชนชาติมอญจากทวารวดีในภาคกลางขึ้นมาสร้างอาณาจักรหริภุญไชยส่งอิทธิพลทางพันธุกรรมไปยังคนลำพูน เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ เป็นต้น
5. พันธุกรรมชาวเหนือที่แตกต่างจากกลุ่มไท-กะได และออสโตรเอเชียติกซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ หรือคนเมือง คือกลุ่มคนที่มีพันธุกรรมตรงกับผู้คนที่ใช้ภาษาตระกูลจีน-ทิเบต ได้แก่ กะเหรี่ยง อาข่า ลีซู และลาฮู และกลุ่มภาษาตระกูลม้ง-เมี่ยน เป็นต้น
6. คนอีสานมีพันธุกรรมอยู่ตระกูลภาษาไท-กะได และบางส่วนได้รับพันธุกรรมจากออสโตรเอเชียติกคือมอญ-เขมร โดยเฉพาะชาวสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี อย่างไรก็ตามพันธุกรรมเขมรก็ต่างจากกัมพูชา เพราะเขมรที่อยู่ในไทยเป็นเขมรสูง เขมรในกัมพูชาเป็นเขมรลุ่มหรือเขมรต่ำแต่อยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรนีเชียนเหมือนกัน
7. คนใต้จะมีพันธุกรรมหลักจากกลุ่มออสโตรนีเชียน คือตระกูลที่ใช้ภาษามาลายู อย่างไรก็ตามยกเว้นชาวใต้ในจังหวัดภูเก็ต สตูล ระนอง นครศรีธรรมราช มีดีเอ็นเอใกล้เคียงกับคนไทยภาคกลางมากกว่ามาลายู ซึ่งตรงกับการอพยพทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนไทยภาคกลางสมัยอยุธยา
การศึกษาประชากรศาสตร์ในลักษณะของพันธุกรรมศาสตร์เป็นสิ่งยืนยันว่าไม่มีอะไรที่เรียกว่าไทยแท้ เพราะคนไทยคือการผสมผสานระหว่างชนหลายชาติมากมายประกอบเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้เราต้องกลับมายอมรับความหลากหลายมากกว่าการยกเอากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเหนือกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง
"ดีเอ็นเอไม่ไทย บรรพชนไทยไม่แท้" เขียนโดย วิภู กุตะนันท์ หนังสือใหม่ เพิ่งพิมพ์ในเดือนตุลาคม 2567 ความหนา 256 หน้า ระดับความยาก: ปานกลาง เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ในลักษณะพันธุกรรมศาสตร์ เป็นหนังสือที่ให้มุมมองประชากรศาสตร์ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ น่าอ่านมากครับ
ความคิดเห็น