ทาส ไท(ย): อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ

ผมเคยศึกษาเรื่องไพร่ทาสในประวัติศาสตร์ไทย และพบว่าการเลิกทาสในสมัยรัชการที่ 5 เป็นกระบวนการพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจตามปกติ แต่ได้รับการเชิดชูโดยโลกตะวันตกที่กำลังครุกรุ่นเรื่องการเลิกทาส สังคมไทยจึงฉวยโอกาสนำเรื่องนี้ไปต่อยอดในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์อย่างแยบยล


หนังสือเรื่อง ทาส ไท(ย) อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ ให้ความกระจ่างในระบบไพร่ทาสในสังคมไทยอย่างเป็นระบบ และพบว่าระบบทาสของไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ที่มีนายเงินและทาสที่ค้ำยันกันในผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แม้ไพร่ ทาส นายเงินจะเป็นความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ก็เป็นระบบหนึ่งในการปกครองประชาชนในประเทศเรา

ไพร่ทาสไม่ได้ยากลำบากขนาดทาสในโลกตะวันตก กลับกัน ไพร่ทาสและนายเงินอยู่ด้วยกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย อาจจะมีการลงโทษบ้าง แต่ก็ไม่รุนแรงอะไร เพราะนายเงินต้องพึ่งพาแรงงานทาสในการทำงาน ซึ่งหากทาสมีเงินก็สามารถไถ่ตัวได้อย่างปกติ เช่นกันหากขาดเงินก็ขายตัวเป็นแรงงานทาสได้เช่นกันเป็นพลวัตรกันไป

ในสมัยรัชการที่ 4 ถึง 5 ระบบเศรษฐกิจของสยามเปิดกว้างเพราะสนธิสัญญาเบาว์ริง การค้าข้าวเป็นสินค้าหลักของประเทศ การให้น้ำหนักการแบกทาสที่เป็นเหมือนแบกทรัพย์สินอย่างหนึ่งของนายเงิน ต่อให้ไม่มีการเลิกทาสก็เหมือนเลิกทาสอยู่แล้วเพราะนายเงินปล่อยทาสออกไปโดยแลกกับการทำนาแล้วขายข้าวกลับมาให้นายเงิน นายเงินก็ได้ประโยชน์ไม่ต้องแบกต้นทุนทาสไว้มากจนเกินไป

ด้วยเหตุผลทางการเมืองและรัฐศาสตร์ เมื่อรัชการที่ 5 เลิกทาส ทำให้เกิดการยกย่องจากฝั่งตะวันตกมากเพราะมุมมองของตะวันตกการเลิกทาสเป็นกระบวนการที่ต้องเสียเลือดเนื้อ สมัยรัชการที่ 6 ต่อยอดด้วยการยกย่องพระราชกิจนี้เพื่อตอกย้ำความศิวิไลซ์ของสังคมไทย แต่เรื่องนี้เงียบไปในสมัยรัชการที่ 7 และ 8 เพราะเกิดการปฏิวัติลดอำนาจอิทธิพลของสถาบันกษัตริย์ จนกระทั่งต้นรัชการที่ 9 พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับมาเชิดชูสถาบันกษัตริย์อีกครั้ง มีการนำพระราชพิธีกลับมา และหยิบยกประเด็นเลิกทาสมาเป็นวาทกรรมให้ความชอบธรรมในการปลดปล่อยประชาชนจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนคนไทย จนเกิดเป็นบทกวี ศิลปะ ละคร ตำราเรียนตอกย้ำเรื่องการกดขี่ทาสในสไตล์ตะวันตก และรัชการที่ 5 สามารถเลิกทาสสำเร็จ ซึ่งเป็นคนละบริบททางสังคมเลย แต่ความจริงเรื่องนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงในกระแสหลัก วาทกรรมผลิตซ้ำเรื่องการเลิกทาสจึงอยู่ในความคิดของคนไทยมาโดยตลอด

"สังคมแห่งปัญญาต้องเปิดกว้างต่อข้อมูลและพยายามไม่ยึดติดข้อมูลบางอย่างมากเกินไปจนเป็นอารมณ์" ยังมีอะไรอีกมากในหนังสือเล่มนี้ครับ

"ทาส ไท(ย): อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ" เขียนโดย ญาณินี ไพทยวัฒน์ พิมพ์ปี 2566 ความหนา 288 หน้า ระดับความยาก: ง่าย เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบในประวัติศาสตร์สังคมไทยและวาทกรรมที่มีเงื่อนงำ ลองหามาอ่านดูครับ

ความคิดเห็น