ส่วนใหญ่ผมจะรู้ประวัติศาสตร์อยุธยาแบบเป็นส่วนๆ และรู้ว่าวันหนึ่งคงต้องอ่านพงศาวดารของอยุธยาสักรอบเพื่อได้ภาพแบบต่อเนื่อง นับเป็นความดีงามของผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเราที่มีการดูแลรักษาเอกสารทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างดี มีการพิมพ์เผยแพร่เพื่อคนในยุคปัจจุบันจะได้เข้าใจและรู้สึกภาคภูมิใจในเรื่องราวที่สามารถย้อนกลับไปได้ถึงระดับรากของบรรพบุรุษไทยในอยุธยา
หนังสือพงศาวดารอยุธยาที่ผมอ่านนี้เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญและทรงคุณค่าอย่างหาที่สุดมิได้ ถูกเรียบเรียงอ่านความและตีพิมพ์รวมเล่มในปี 2567 โดยรวมหลักฐานที่มาจาก 3 แหล่ง คือ 1. คำให้การชาวกรุงเก่า 2. คำให้การขุนหลวงหาวัด และ 3. พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
2 เล่มแรกบรรยายถึงข้อมูลประวัติศาสตร์อยุธยาตั้งแต่ตั้งราชอาณาจักรจนถึงเสียกรุงครั้งที่ 1 และ 2 ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ จะให้ข้อมูลถึงแค่เสียกรุงครั้งที่ 1 (เอกสารแนวพงศาวดารอยุธยามีมากกว่า 3 ฉบับนี้ ซึ่งผมยังไม่ได้อ่าน)
เอกสารทางประวัติศาสตร์เหล่านี้เกิดขึ้นจากคำให้การสมัยที่ชาวไทยถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อเชลยไปถึงพม่า จึงมีการสอบสวนถามไถ่ที่ไปที่มา มีการจดเรื่องราวประวัติต่างๆ เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ในเบื้องต้นพม่าไม่เข้าใจภาษาไทยจึงมีการถ่ายทอดจากภาษาไทยเป็นภาษามอญ แล้วค่อยแปลจากภาษามอญเป็นภาษาพม่าอีกทีหนึ่ง จากนั้นรวบรวมเก็บไว้เป็นพระราชพงศาวดารฉบับหลวงในพระราชวังมัณฑะเลย์ จนกระทั่งพม่าเสียให้แก่อังกฤษ เอกสารชุดนี้จึงหลุดมาถึงไทยตั้งแต่สมัยรัชการที่ 4 เป็นต้นมา เราพบเอกสารที่เนื้อหาตรงกันนี้ในภาษามอญและฉบับหลวงในภาษาพม่า ลักษณะการเขียนแรกเริ่มอยู่ในรูปแบบใบลานและสมุดไทยแยกเป็นเล่มๆ แต่เนื่องด้วยความละเอียด ระยะเวลาที่เนิ่นนาน ผู้ที่เก็บรักษาไม่มีความเข้าใจหรือละเอียดรอบคอบ ทำให้เกิดการสลับม้วนสลับเล่มกัน ครั้นเมื่อได้มา นักวิชาการต้องใช้ความอุตสาหะในการปะติดปะต่อเรื่องราวหลักฐานได้บ้างไม่ได้บ้างเท่าที่จะสามารถทำได้
คำให้การชาวกรุงเก่า เป็นคำบอกเล่าของชาวอยุธยาหลายคน ซึ่งต่างจากฉบับขุนหลวงหาวัด ซึ่งหมายถึงเป็นคำให้การของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร กษัตริย์อยุธยาที่ออกผนวช และถูกกวาดต้อนไปยังอมรปุระพร้อมกับชาวไทยสมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 ซึ่งนักวิชาการประวัติศาสตร์ตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะเป็นคำให้การจากหลายคนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทุกฉบับมีจุดอ่อน คำให้การชาวกรุงเก่าทั้งหมดคาดว่าเป็นคำบอกเล่าที่ไม่เปิดเผยข้อมูลจริงทุกประการ และอาจเป็นข้อมูลที่เกินความจริงในหลายเรื่องเนื่องจากผู้ซักถามเป็นฝ่ายพม่าซึ่งถือเป็นศัตรูโดยตรง
ลักษณะการเขียนของ "คำให้การชาวกรุงเก่า" เป็นแบบประวัติศาสตร์เรียงความมาเรื่อยๆ อ่านง่ายเข้าใจง่าย การเขียน "คำให้การขุนหลวงหาวัด" เป็นแบบตัวรง สำนวนภาษาเป็นแบบใบลานบาลีและสมุดไทย นำประโยคด้วยเครื่องหมายวงกลม ๐ ใช้คำว่า "อัน.. จึ่ง... ครั้น..." เช่น "ครั้นอยู่หลายชั่วกษัตริย์มา จึ่งมีกษัตริย์องค์หนึ่งเป็นเชื้อพระสุธรรมราช ได้ครองราชสมบัติต่อมาในกรุงศรีอยุธยา จึ่งอัครมหาเสนาบดีและมหาปโรหิตและเสนาทั้งปวง..." (รักษาตัวสะกดตามแบบดั้งเดิม) ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงเก่า จะเขียนแบบลำดับเวลา Timeline สั้นๆ เมื่อนำข้อมูลมารวมกันจะได้ภาพชัดเจนเสริมกัน
สำหรับผมเนื้อหาแต่ละคำแต่ละย่อหน้า น่าประทับใจอย่างที่สุด ให้รายละเอียดทางประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง มีความเป็นอดีตซึ่งต้องมองจากมุมมองของสมัยนั้น แต่หากพิจารณากลั่นกรองอย่างดี เราสามารถได้หลักการบางอย่างที่สกัดออกมา และเป็นประโยชน์มากต่อการต่อยอดองค์ความรู้ที่ใช้ได้จริงร่วมกับสังคมไทยในปัจจุบัน เป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สวยงามที่สามารถส่องต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้ชั่วกาลนาน
"คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์" เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีการตีพิมพ์ล่าสุด ในปี 2567 หนังสือหนา 400 หน้า ระดับความยาก: ปานกลาง เหมาะสำหรับทุกคนที่ชื่นชอบในหลักฐานต้นทางของประวัติศาสตร์อยุธยา ลองหามาอ่านก่อนจะหมดนะครับ คิดว่าน่าจะมีคนซื้อเพื่อเป็นหนังสืออ้างอิงเยอะ
ความคิดเห็น