A Little History of Poetry กวีนิพนธ์ ประวัติศาสตร์สุนทรียภาพแห่งการเรียงถ้อยร้อยคำ

ไม่น่าเชื่อว่าผมจะหลุดลอยไปในโลกแห่งกวีนิพนธ์ จากมหากาพย์กิลกาเมช สงครามการผจญภัยของโฮเมอร์ ไปจนถึงกวีนิพนธ์แองโกล-แซ็กซันอย่างเบวูลฟ์ ยุคชุมชนนิยมเคร่งศาสนา ลำนำของหมู่ชนชั้นสูง บทกวียุคสงครามใหญ่น้อย การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ กวีนิพนธ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 อันโหดร้ายและยิ่งโหดร้าย กวีโมเดิร์นนิสต์ จนไปถึงยุคแห่งการก้าวพ้นขีดจำกัดทั้งปวง

The Epic of Gilgamesh กษัตริย์กิลกาเมชดุดันป่าเถื่อน เหล่าเทพได้สร้างเอ็นคิดดูที่ดุร้ายป่าเถื่อนกว่าเพื่อปราบกิลกาเมช แต่เมื่อพบกัน กิลกาเมชกลับหลงรักเอ็นคดิดูอย่างหัวปักหัวปำ ทั้งคู่ร่วมผจญภัยปราบเหล่าสัตว์ประหลาดที่ทวยเทพเนรมิตขึ้นเพื่อกำจัดกิลกาเมชจนหมด แต่แล้ววันหนึ่งเอ็นคิดดูพลาดท่าถูกสังหาร ทำให้กิลกาเมชเสียใจมาก จนเดินทางไกลหาวิธีที่ทำให้ชีวิตเป็นอมตะ และได้พบกับชายผู้เป็นอมตะนามอุตนาพิชติม ผู้รอดชีวิตจากน้ำท่วมโลกเพราะเทพเจ้าสั่งให้ต่อเรือ กิลกาเมชดำน้ำไปหาต้นไม้วิเศษ แต่เมื่อขึ้นมาถึงผิวน้ำกลับถูกงูมาขโมยต้นไม้ไป อุตนาพิชติมจึงบอกกิลกาเมชว่า ไม่มีทางเอาชนะความตายได้ ถึงคราวตายมนุษย์ทุกคนก็ต้องตาย กิลกาเมชเดินทางกับอูรุกพร้อมบทเรียนว่าตนก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับมนุษย์ทั่วไป

อีกเรื่องที่น่าประทับใจ มาจากกวีนิพนธ์  Battle of the Valerik River เป็นบทประพันธ์สงครามของเลอร์มอนทอฟ กวีชาวรัสเซีย ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกถึงความรุนแรงแต่เงียบเชียบของสงครามได้อย่างเห็นภาพ "เราเข่นฆ่าราวกับสัตว์ เงียบกริบ ปะทะกันแบบตัวต่อตัว ท่ามกลางความโกรธเกรี้ยว ศพกองเป็นพะเนินสกัดกั้นสายน้ำมิให้ไหล เพราะความร้อนและความล้า ฉันจึงพยายาม ที่จะดื่มกิน แต่สายน้ำนั้นกลับขุ่นคลั่ก ร้อนและแดงฉาน"

นี่เป็นเพียงตัวอย่าง 2 เรื่องจากเรื่องมากมากในนั้น หนังสือยังเต็มไปด้วยกวีนิพนธ์ประพันธ์โดยกวีเป็นร้อยๆ หลายยุค สะท้อนความเชื่อศรัทธา ความรัก สงคราม ความยากลำบาก ความท้อแท้สิ้นหวัง และท้าทายความคิดของสังคม สะท้อนแง่มุมความนึกคิดของผู้คนที่พัฒนาต่อยอดปฏิสัมพันธ์ในห้วงแห่งประวัติศาสตร์โลก

"A Little History of Poetry กวีนิพนธ์ ประวัติศาสตร์สุนทรียภาพแห่งการเรียงถ้อยร้อยคำ" แต่งโดย John Carey ความหนา 520 หน้า ระดับความยาก: ยาก เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจความคิดผู้คนจากการพัฒนาของสุนทรียภาพผ่านกวีนิพนธ์ ลองดูครับ อ่ายยากหน่อยแต่ก็ทำให้เราเปิดโลกครับ

ความคิดเห็น