12 พฤติกรรมน่ากังวลของพลเมืองดิจิตัล

ขณะที่เทคโนโลยีเร่งความเร็วทุกอย่างรอบตัวเรา ผู้คนกลับไม่ได้พึงพอใจที่สามารถประหยัดเวลาได้ แต่เขากลับหงุดหงิดที่ไม่สามารถเร่งมันให้เร็วขึ้นได้อีก

ปัญหาของการใช้เวลา “ตามที่มันจำเป็นต้องใช้” จึงรบกวนจิตใจคนยุคนี้อย่างมาก ตัวอย่างเช่นการอ่านหนังสือเอาว่าสักครึ่งชั่วโมง ปัญหาไม่ใช่ว่าเราไม่อยากจะอ่าน แต่เรากลับพบว่าเราใจร้อนเกินกว่าที่จะยอมทำสิ่งนั้น เพราะเราเร่งมันไม่ได้ นั่นแหละ การอ่านอะไรให้รู้เรื่องคงต้องใช้เวลาตามที่มันจำเป็นต้องใช้

คงมีอะไรอีกเยอะ ประเด็นคือ “คุณใจร้อนไปไหม”

เรื่องนี้สะท้อนผ่านศัพท์ใหม่ๆ 12 คำที่สะท้อนพฤติกรรมที่น่ากังวลของสังคมดิจิตัล

1.Technoference | เทคโนโลยีรบกวนความสัมพันธ์

เป็นสภาพคนที่จ้องมือถือนานๆ เหมือนอยู่ในฟองสบู่บางๆ ที่คนรอบข้างรู้สึกยากที่จะเจาะเข้าไปได้ คำนี้มาจากการผสมระหว่าง Technology และ Interference มีเหตุการณ์จริงจากเด็กอนุบาลที่ใสซื่อที่ถามคุณครูว่าเวลากลับบ้านรู้สึกเหมือนแม่อยู่ในฟองสบู่ เข้าไม่ถึง นั่นกำลังมีปัญหา Technoference แล้วครับ

2. Phadultery | ความสัมพันธ์ออนไลน์กับคนนอกสมรส

การเปิดการเชื่อมโยงของโซเชี่ยลมีเดียทำให้แนวโน้มความสัมพันธ์ออนไลน์นอกสมรสสูงขึ้น เช่น การดูรูปโป๊เปลือย การแชทกับคนแปลกหน้าหรือคนรู้จักเพื่อผูกความสัมพันธ์เชิงชู้สาว เป็นต้น ปัจจุบันมีคดีหย่าร้าง 20% ที่มีเฟสบุ๊คและโซเชี่ยลมีเดียมาเกี่ยวข้อง เราจึงต้องใช้โซเชี่ยลมีเดียอย่างระมัดระวังครับ

3. Sharenting | พ่อแม่นักแชร์

พ่อแม่บางคนแชร์รูปลูก บอกรายละเอียดบางอย่างมากเกินไป คุณรู้ไหมว่า AI จะรวมข้อมูลและบางทีลูกของคุณถูกใช้กลายเป็นเหยื่อในโลกออนไลน์ต่อไปในอนาคต นอกจากนั้นบางเรื่องเกิดขึ้นและผ่านไปจนลูกของคุณโตแล้วแต่ยังคงเห็นรูปหรือคลิปบางอย่างอยู่ สร้างความไม่พอใจในความสัมพันธ์ในครอบครัวได้

4. Comparison Culture | วัฒนธรรมการเปรียบเทียบ

โดยทั่วไปเวลาคนเราจะลงเรื่องราวบางอย่างในโลกโซเชียล เขาจะนำสิ่งที่ดีที่สุดมาลง เรื่องกลางๆ จะไม่ค่อยมี เมื่อคุณพบสิ่งที่ดีเกินตัวจากเพื่อนหลายๆ คนในสื่อโซเชี่ยล คุณอาจจะเกิดการเปรียบเทียบจนขาดความมั่นใจไปได้

5. Multi-screening | ใช้หลายหน้าจอพร้อมกัน

งานวิจัยมากมายพิสูจน์แล้วว่าคนเราไม่สามารถโฟกัสจริงจังหลายเรื่องได้ ยิ่งปัจจุบันมีการใช้หลายหน้าจอสำหรับหลายงาน ทำให้คุณกลายเป็นคนที่โฟกัสอะไรไม่ได้สักอย่าง

6. Gaming Addiction | โรคติดเกม

ทุกวินาทีมีแต่ความตื่นเต้น แต่ความสำเร็จในเกมไม่ใช่ความสำเร็จในโลกความเป็นจริง ยิ่งเงยหน้าขึ้นมาแล้วพบความจริงแบบนั้นยิ่งจะก้มหน้าต่อไปพร้อมด้วยโรคซึมเศร้า

7. Trolling | การบูลลี่ออนไลน์

ปัจจุบันง่ายที่ใครจะโจมตีคุณทางออนไลน์อย่างเจาะจง อะไรก็ได้ขอให้ได้วิจารณ์นักเลงคีย์บอร์ดมักสนุกในการทำสิ่งนี้ ยิ่งมีการคอมเม้นท์เพิ่มเชื้อไฟอย่างสนุกสนาน ความรุนแรงของการถูกบูลลี่ยิ่งเพื่มทวีคูณ

8. Vampire Shopping | ช้อปผีดูดเลือด

เป็นปรากฏการณ์การช้อปหลังเที่ยงคืนจนถึงเช้า ช้อปหนัก ช้อปง่าย แต่สูบเงินคุณจนแห้งอย่างรวดเร็ว

9. The Quantified Self | ตัวตนเชิงปริมาณ

ความเป็นคุณในรูปแบบของตัวเลข เช่น ค่าตัวเลขสุขภาพต่างๆ เดิน 10,000 ก้าว ปิดวงแหวน ฯลฯ จนเกิดความวิตกว่าหากทำไม่ครบสุขภาพจะไม่ดี

10. Smombies | สมอมบี้ หรือสมาร์ตโฟนซอมบี้

จ้องมือถือแล้วเดินแบบไร้ความรู้สึกกับสิ่งรอบข้าง อันตรายมากครับ

11. Cyberchondria | ไซเบอร์คอนเดรีย หรือการปรึกษาโรคกับหมอกูเกิ้ล

มีปัญหาสุขภาพก็ค้นกูเกิ้ล จนเจอข้อมูลมากมายที่น่าวิตกกังวลจนเกินเหตุ บางทีก็หลงเชื่อวิธีการรักษาโรคแบบแปลกๆ เช่น น้ำมะนาวรักษามะเร็ง หรือกินอินทผลัมอย่างเดียวรักษาโรคเบาหวาน เป็นต้น

12. Nomophobia | โรคกลัวการขาดมือถือ

กลัวอย่างไร้เหตุผลเวลาไม่มีโทรศัพท์

คำศัพท์เหล่านี้สะท้อนพฤติกรรมของประชากรดิจิตัลได้อย่างชัดเจน เป็นเรื่องที่เราต้องกลับมาทบทวนเพื่อจะปรับสมดุลกลับมายังโลกความเป็นจริง เพื่ออุปนิสัยที่ดีจะยังคงสามารถถูกสร้างได้อยู่อย่างมีความหวัง

อ้างอิง

Goodin, Tanya. (2565). My Brain Has too Many Tabs Open: ปิดแท็บชีวิตแค่ปิดโซเชียล

ความคิดเห็น