พระธรรมสดุดีเป็นบทเพลงบรรยายถึงความงดงาม ความสง่างาม ความยิ่งใหญ่ตระการตาของพระเจ้า สะท้อนความสัมพันธ์และประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อพระเจ้า
สดุดี 29:2 จงถวายพระเกียรติซึ่งควรแก่พระนามของพระองค์แด่พระยาห์เวห์ จงนมัสการพระยาห์เวห์ผู้ทรงงดงามในความบริสุทธิ์
สดุดี 96:6 พระสิริและความสง่างามอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ พระกำลังและความงามอยู่ในสถานนมัสการของพระองค์
การรับรู้ของเราอาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือส่วนของเหตุผล (Rational Influence) และส่วนของอารมณ์ (Emotional Influence) ชีวิตคริสเตียนพระวจนะเป็นส่วนประกอบของหลักการและเหตุผล และการนมัสการเป็นส่วนประกอบของอารมณ์ ความเข้าใจเรื่องศิลปะจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราพัฒนาการรู้จักพระเจ้าได้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของอารมณ์ความรู้สึก
หากเรามองการนมัสการในความหมายของเชิงศิลปะ การนมัสการเป็นการสะท้อนความเชื่อภายในออกมาเป็น “รูปธรรมเชิงศิลป์” ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งวิจิตรศิลป์ (Fine Art) และประยุกต์ศิลป์ (Applied Art) เป็นเครื่องมือบรรยายพระลักษณะพระเจ้าต่อชุมชนของพระองค์
เครดิต: HIM Thailand |
ศิลปะทำงานคู่กับความรู้ ส่งเสริมกันให้เกิดการรับรู้และความประทับใจในพระเจ้าได้หากเราเข้าใจและประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
ประเภทของศิลปะและการประยุกต์ในการนมัสการ
1. ทัศนศิลป์ (Visual Art)
เป็นศิลปะที่รับรู้ด้วยสายตา ได้แก่ ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม การออกแบบเวที ภาพถ่าย ภาพกราฟิก แสงสี การแต่งกาย
2. โสตศิลป์ และพจนศิลป์ (Auditory Art and Verbal Art)
เป็นศิลปกรรมที่รับรู้ด้วยการฟัง ได้แก่ งานดุริยางค์ศิลป์ งานดนตรี การประพันธ์เนื้อหาเพลง การออกแบบเสียง (มิกเซอร์ การใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการออกแบบเสียงที่ดี)
3. ศิลปะท่าทาง (Performing Art)
เป็นศิลปะการแสดงออกของท่าทางเพื่อส่งความหมายโดยรวมของความหมายที่ต้องการสื่อสาร เช่น การเต้น การแสดงออกของสีหน้า ท่าทาง
4. ศิลปผสม (Mixed Art)
เป็นศิลปกรรมที่ใช้สื่อให้รับรู้หลายอย่างพร้อมกัน ได้แก่ ละคร ที่ใช้ทั้งทัศนศิลป์ ในการสร้างฉากและเครื่องแต่งตัว ใช้ท่าทางการร่ายรำ ใช้การพูดจาด้วยพจน์ศิลป์ และใช้ดนตรีหรือ โสตศิลป์ ประกอบไปพร้อมๆ กัน
5. ศิลปะดิจิตัล (Digital Art)
เป็นงานศิลป์ที่ถ่ายทอดงานในสื่อดิจิตัลในลักษณะของศิลปะผสม ได้แก่ งานกราฟิกสมัยใหม่ การออกแบบเวปไซท์ การทำคลิป หรือการถ่ายทอดสด ศิลปะดิจิตัล จำเป็นต้องเข้าใจและพึงพาเทคโนโลยี
ในการนมัสการเราสามารถมองศิลปะในลักษณะ “องค์รวม” กับ “แยกส่วน” คือในองค์รวมเป็นการประสานกันระหว่างศิลปะทุกแขนงให้ออกมาอย่างลงตัว มีเป้าประสงค์เป็นหนึ่งเดียวกัน ส่วนการมองแบบแยกส่วนเพื่อให้เกิดพัฒนาองค์ประกอบศิลป์อย่างเจาะจง
เครดิต: HIM Thailand |
สิ่งที่ทีมนมัสการสามารถพัฒนาการนมัสการในความหมายเชิงศิลป์
1. แบ่งความรับผิดชอบตามองค์ประกอบศิลป์
อาจมอบหมายงานตามองค์ประกอบศิลป์เป็นคนในทีม แล้วให้นำเสนอความคิดเพื่อพัฒนาองค์ประกอบศิลป์ตามความถนัด การแบ่งหน้าที่ทำให้เกิดความรับผิดชอบและการพัฒนาภาพรวมได้อย่างเป็นระบบ
2. เปิดโอกาสในการลองสิ่งใหม่
เราสามารถหาโอกาสจากงานต่างๆ ที่เป็นงานสำคัญของคริสตจักร เช่น งานอีสเตอร์ คริสต์มาส หรือเพิ่มโอกาสในช่องทางการสื่อสาร เช่น สื่อดิจิตัล YouTube Facebook Instagram TikTok หรืออื่นๆ ที่สำคัญคือตกลงกันแล้วกำหนดความตั้งใจให้ออกมาเป็นรูปธรรม พยายามเรียนรู้และกล้าลองสิ่งใหม่ๆ สื่อสารกับคริสตจักรล่วงหน้าเสมอ
การพัฒนาการนมัสการในความหมายเชิงศิลป์ยังคงต้องกลับมายังหัวใจคือการนบนอบ ยอย่อง ให้เกียรติพระเจ้า นำทั้งชีวิตของเราเองและคริสตจักรให้มอบถวายทั้งสิ้น หมายถึง ความคิด การยอมจำนน การเชื่อฟังพระเจ้า ตลอดจนความรักกันและกัน ความเป็นหนึ่งเดียวกันในชุมชนของพระเจ้า ซึ่งเป็นความหมายแท้ของการนมัสการ
อ้างอิง
มัทนี รัตนิน. (2549). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศิลปะการแสดงละครเวที. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลับธรรมศาสตร์.
Rothko, Mark. (2010) About Art — What Do We Really Mean, Smashing Magazine. [Available Online]. https:// shorturl.at/lyFV9.
WAM | Worship Arts Media. https://www.facebook.com/worshipartsmedia
ความคิดเห็น