โดย กนก ลีฬหเกรียงไกร
ศตวรรษที่ 12 ขณะที่สงครามครูเสดระหว่างยุโรปและตะวันออกกลางอยู่ในช่วงท้ายๆ นักรบมองโกลแห่งยูเรเชียนำโดยจอมทัพเจ็งกิสข่าน บุกเข้ามาด้วยกลยุทธที่แปลกประหลาด ใช้จังหวะพุ่งรบ แกล้งถอย และโจมตีกลับอย่างรุนแรง ตีเมืองทางตะวันตก ฆ่าไม่เลือกหน้า เผาเมืองจนราบเป็นหน้ากลอง จนสามารถยึดพื้นที่ทั้งประเทศจีนไล่มาจาถึงฮังการีทางตะวันตกได้อย่างหมดจด รวดเร็ว แม้อัศวินเทมปรา หรือนักรบมัลลุคก็มิอาจต้านทาน สร้างความหวาดกลัวมากกว่าสงครามใดใดที่โลกเคยประสบมา
กลศึกของมองโกล ใช้ทหารมาเร็วไปล่อศัตรู แกล้งถอย และโจมตีกลับด้วยทหารม้าอาวุธหนัก |
สี่ขุนพลสุนัขสงคราม (Four hounds of Genghis Khan) ขุนพลชำนาญศึกของเจงกิสข่าน 1. สุโบไต (Subotai) 2. เจลเม (Jelme) 3. คูบิไล (Kubilai) 4. เจอเป (Jebe) ชื่อเสียงของเขาคือความดุดัน รวดเร็ว และน่าสะพรึงกลัวอย่างที่สุด
การโจมตีของทัพมองโกลพุ่งไปยังตะวันตกของประเทศจีน ฝ่าด่านอาณาจักรมุสลิมที่ยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 13 ไปจนถึงดินแดนรุสเซีย กองทัพสี่ขุนพลสุนัขสงครามบุกเพื่อปล้นฆ่าและข่มขวัญศัตรูอย่างรุนแรง โดยจะไว้ชีวิตแค่นักบวช ช่างฝีมือ ปราชญ์ คนแข็งแรงที่ถูกทำให้เป็นทาส ที่เหลือจะถูกประหารจนหมดสิ้นไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงและเด็ก
นักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมในยุคนั้นบันทึกไว้ว่า “การสังหารหมู่เด็กๆ ในสมัยเนบูคัสเนสซาร์และการทำลายเยรูซาเล็มนับว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก แต่ยังเทียบไม่ได้กับความเลวร้ายในครั้งนี้”
กวีอาหรับบันทึกไว้ “หายไปจากพิภพราวกับตัวหนังสือเป็นแถวๆ สถานที่เหล่านี้กลายเป็นที่อยู่ของนกเค้าแมวและอีกา”
มองโกล กองทัพแห่งยูเรเซีย เหมือนผู้พิพากษาที่ถูกส่งมาจากพระเจ้าเพื่อสยบความอหังการของอาณาจักรมุสลิมและคริสเตียนจากสงครามในยุคครูเสด
ความสำเร็จของจักรวรรดิมองโกลเกิดจาก 1. การใช้กลศึกที่รวดเร็วรุนแรงโหดเหี้ยมและมีประสิทธิภาพเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด 2. ความมีเอกภาพของกองทัพที่ยิ่งใหญ่ 3. การเปิดกว้างในการยอมรับเทคโนโลยีการรบของทุกประเทศที่ตีได้ 4. การมีผู้นำที่เด็ดเดี่ยวเป็นศูนย์รวมใจ
มหาจักรวรรดิมองโกล โดยภาสพันธ์ ปานสีดา |
อย่างไรก็ตามยุคของจักรวรรดิมองโกลสั้นมากเพียง 170 ปี หลังจากเจ็งกิสข่านจากไป จักรวรรดิเริ่มขาดเอกภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไปและล่มสลายถอยกลับไปอยู่ ณ จุดเดิมที่เคยครอบครองคือแถบมองโกเลีย
บทเรียนที่น่าคิดคือ
1. กลศึกถูกเลียนแบบโดยประเทศที่เคยแพ้และปรับปรุงจนสามารถกลับมาเอาชนะได้ ขณะที่กลศึกของมองโกลไม่ได้พัฒนาขึ้นมากเท่าไร
2. จักรวรรดิมองโกลถูกแบ่งเป็น 4 ส่วน เพราะไม่ต้องการยกใครเป็นคาฆาน หรือจอมข่านผู้เดียวเหมือนเตมูจิน ทำให้ขาดเอกภาพ
3. ถูกประเทศที่ตีได้กลืนวัฒนธรรม มากกว่าครึ่งกลายเป็นอิสลาม ฮินดู และขงขงจื้อ ทำให้ยิ่งประสานกันไม่ได้เข้าไปอีก
4. ขาดผู้นำที่สร้างความเป็นเอกภาพ แต่ละกลุ่มไม่ยอมรับกันและกัน และภายในกลุ่มก็ช่วงชิงความเป็นเจ้ากันเอง
หนังสือ “มหาจักรวรรดิมองโกล” โดยภาสพันธ์ ปานสีดา หนังสือใหม่ปี 2564 ความหนา 434 หน้า ระดับความยาก ปานกลางถึงยาก เป็นหนังสือเกี่ยวกับจักรวรรดิมองโกลที่ดีที่สุดในช่วงเวลานี้ แม้จะยากสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นทางประวัติศาสตร์โลก แต่หากค่อยๆ ทำความเข้าใจจะพบว่าหนังสือนี้มีคุณค่ามากในหลายมิติ ทั้งวัฒนธรรม ความนึกคิดของผู้มีความสามารถและมีอำนาจมาก ความสำเร็จ ความล้มเหลว เป็นต้น
เราสามารถเรียนรู้เพื่อพัฒนาแนวคิดตนเองจากแนวคิดของหนังสือเล่มนี้ ขณะเดียวกันก็ควรตระหนักว่าอย่าไปยึดติดมากเพราะถึงบทสรุปจะไม่มีอะไรที่ยั่งยืนถาวรจริงๆ ในโลกนี้
ความคิดเห็น