ดาวิด บัทเชบา คดีข่มขืนอำพรางของผู้มีอำนาจในพระคัมภีร์

โดย กนก ลีฬหเกรียงไกร
ดาวิดเป็นกษัตริย์อิสราเอลที่มีชีวิตโชกโชนไปด้วยประสบการณ์มากมายกับพระเจ้า ดาวิดมีช่วงเตรียมชีวิต ช่วงต่อสู้ดิ้นรน ช่วงก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จในชีวิต และช่วงที่ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่สิ่งที่เราจะเห็นเสมอคือเขาสามารถสรรเสริญพระเจ้าในทุกสถานการณ์
ดาวิดเป็นบุตรคนเล็กของเจสซี ไม่มีความสำคัญอะไร เมื่อผู้เผยพระวจนะซามูเอลมายังบ้านของเจสซีเพื่อเจิมตั้งกษัตริย์ ลูกชายของเจสซีพร้อมอยู่ที่บ้านแต่ดาวิดอยู่ที่ทุ่งเลี้ยงแกะ ราวกับว่าดาวิดในสายตาของบิดาและพี่ๆ จะไม่สลักสำคัญอะไรมากนัก แต่พระเจ้าทรงเรียกดาวิด ผู้เผยพระวจนะซามูเอลได้เจิมตั้งดาวิดให้เป็นกษัตริย์ตั้งแต่วัยหนุ่ม (1 ซามูเอล 16:13) แต่ตำแหน่งกษัตริย์ไม่ได้มาทันที ณ เวลานั้น ดาวิดยังต้องเผชิญกับเหตุการณ์หลายต่อหลายอย่าง เขาเผชิญหน้ากับโกลิอัทด้วยความกล้าหาญ เขาเข้ามารับใช้กษัตริย์ซาอูลโดยการถวายเสียงพิณเพื่อขับไล่ผีที่เข้ามาสิงกษัตริย์ซาอูล เขาเป็นนักรบที่ประสบความสำเร็จ เมื่อพวกผู้หญิงเต้นรำรื่นเริงกันอยู่นั้นก็ขับร้องรับกันว่า  "ซาอูลฆ่าคนเป็นพันๆ  และดาวิดฆ่าคนเป็นหมื่นๆ" (1 ซามูเอล 18:7) กษัตริย์ซาอูลอิจฉาดาวิดจึงตั้งใจไล่ล่าเอาชีวิต ดาวิดต้องระหกระเหินหนีจากการตามล่าของกษัตริย์ซาอูล แต่พระเจ้าทรงช่วยกู้ดาวิดไว้หลายต่อหลายครั้ง ดาวิดแต่งบทเพลงไว้ตอนหนึ่งว่า
สดด.18:17-18 พระองค์ทรงช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากศัตรูเข้มแข็งของข้าพเจ้า และจากบรรดาผู้ที่เกลียดชังข้าพเจ้า เพราะเขามีอานุภาพเกินกว่าข้าพเจ้ามากนัก เขาขัดขวางข้าพเจ้าในวันที่ข้าพเจ้าประสบหายนะ แต่พระเยโฮวาห์ทรงเป็นที่พักพิงของข้าพเจ้า
ชีวิตที่โชกโชนของดาวิดมีขึ้นมีลง มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ความล้มเหลวครั้งใหญ่ของกษัตริย์ดาวิดคือเหตุการณ์การล่วงประเวณีกับนางบัทเชบา ภรรยาของอุรียาห์ ชาวฮิตไทต์ ทหารกล้า ลูกน้องของดาวิด (2 ซามูเอล 11) เป็นไปได้ที่กษัตริย์ดาวิดอาจจะปล่อยเวลาให้ว่างจนเกินไป ทั้งๆ ที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงศึกสงคราม พระคัมภีร์บรรยายเหตุการณ์นี้ไว้อย่างตรงไปตรงมา
2 ซามูเอล 11:2 "อยู่มาเวลาเย็นวันหนึ่งเมื่อดาวิดทรงลุกขึ้นจากพระแท่น  และดำเนินอยู่บนดาดฟ้าหลังคาพระราชวัง  ทอดพระเนตรจากหลังคาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งอาบน้ำอยู่  หญิงคนนั้นสวยงามมาก"
หลังจากนั้นกษัตริย์ดาวิดส่งคนไปนำบัทเชบาเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับนางจนนางบัทเชบาตั้งครรภ์ จึงวางแผนเรียกอุรียาห์ สามีของนางบัทเชบา กลับมาจากสงครามเผื่อว่าจะไปมีเพศสัมพันธ์กับบัทเชบา เรื่องจะได้เงียบไป แต่อุรียาห์เป็นคนมีความมุ่งมั่น เขาไม่ยอมปล่อยให้เพื่อนของเขาที่กำลังลำบากอยู่ระหว่างศึกสงครามแต่ตัวเองสบายได้กลับมานอนกับภรรยาที่บ้าน เขาจึงนอนอยู่ที่หน้าประตูพระราชวัง (2 ซามูเอล 11:9-13) เมื่อแผนการปกปิดความผิดของกษัตริย์ดาวิดล้มเหลว แผนการฆ่าอุรีอาห์ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้
2 ซมอ.11:14-15 ครั้นรุ่งเช้าดาวิดทรงอักษรถึงโยอาบและทรงฝากไปกับอุรีอาห์ ในลายพระหัตถ์นั้นว่า  "จงตั้งอุรีอาห์ให้เป็นกองหน้าเข้าสู้รบตรงที่ดุเดือดที่สุด  แล้วล่าทัพกลับเสียเพื่อให้เขาถูกโจมตีให้ตาย"
นาธันผู้เผยพระวจนะได้เผยพระวจนะอย่างกล้าหาญตักเตือนกษัตริย์ดาวิด ในที่สุดเขาก็กลับใจ กษัตริย์ดาวิดแสดงความเสียใจและกลับใจ กษัตริย์ดาวิดได้เขียนบทเพลงสารภาพบาปของตนเองไว้ในบทเพลงสดุดีตอนหนึ่ง
สดด.51:1-3 ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงแสดงพระกรุณาต่อข้าพระองค์ตามความรักมั่นคงของพระองค์ ขอทรงลบการทรยศของข้าพระองค์ออกไปตามแต่พระกรุณาอันอุดมของพระองค์ ขอทรงล้างข้าพระองค์จากความบาปผิดให้หมดสิ้น และทรงชำระข้าพระองค์จากบาปของข้าพระองค์ เพราะข้าพระองค์ทราบถึงการละเมิดของข้าพระองค์แล้ว และบาปของข้าพระองค์อยู่ต่อหน้าข้าพระองค์เสมอ
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น พระเจ้าทรงลงโทษกษัตริย์ดาวิดให้ลูกชายที่เกิดจากนางบัทเชบาเสียชีวิต และลงโทษอีกหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับโอรสของพระองค์คือกรณีอื้อฉาวของอัมโมน ทามาร์ และการกบฏของอับซาโลมในเวลาต่อมา

เกี่ยวกับเรื่องนางบัทเชบา ในทัศนะของเคนเน็ธ อี. ไบเลย์  (Bailey, 2008: 40-41) เขาให้ความคิดว่านางบัทเชบาไม่ใช่เหยื่อของการล่วงประเวณีของกษัตริย์ดาวิด ไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ที่ต้องรับการปกป้อง กษัตริย์ดาวิดต่างหากที่เป็นเหยื่อในเรื่องนี้ นางบัทเชบาตั้งใจจะกำจัดอุรียาห์เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นมเหสีของกษัตริย์ดาวิด โดยตั้งใจล่อลวงกษัตริย์ดาวิดให้ล่วงประเวณีกับนาง เพราะโดยธรรมเนียมของการอาบน้ำของชาวยิวในสมัยนั้นจะไม่เปิดเผยเรือนร่างบนดาดฟ้า

อย่างไรก็ตามทัศนะนี้ได้ถูกอธิบายโต้แย้งโดย ลอว์เรนซ์ โอ. ริชาร์ดส์ และ คิม และไนเอ็งเจล โดยให้รายละเอียดของเหตุการณ์ซึ่งระบุว่านางบัทเชบาต่างหากที่เป็นเหยื่อของการข่มขืน

ลอว์เรนซ์ โอ. ริชาร์ดส์  (Richards: 1991, 210-211) ยืนยันในความบริสุทธิ์ใจของบัทเชบา เขาได้อธิบายไว้ว่า บัทเชบาอาบน้ำในช่วงเวลาเย็นใกล้พลบค่ำซึ่งเป็นเวลาปกติที่ผู้คนจะอาบน้ำกัน ริชาร์ดส์บรรยายว่า ถ้าพิจารณาบริบทแวดล้อมจากพระธรรม 2 ซามูเอล 11:2 “ต่อมาเวลาเย็น วันหนึ่ง เมื่อดาวิดทรงลุกขึ้นจากพระแท่น  และเดินอยู่บนดาดฟ้าหลังคาพระราชวัง ทอดพระเนตรจากหลังคาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งอาบน้ำอยู่ หญิงคนนั้นสวยงามน่าดูมาก” จะพบรายละเอียดที่น่าสนใจ เวลานั้นกษัตริย์ดาวิดเพิ่งตื่นนอนจากการงีบในช่วงเย็น  จากนั้นทรงเดินเล่นบนหลังคาแล้วมองลงมายังบ้านของบัทเชบา ริชาร์ดส์ได้บรรยายสถานที่อาบน้ำของบัทเชบาเป็นลักษณะลานบ้าน (courtyard) มีกำแพงปิดมิดชิดแต่เปิดโล่งด้านบน ซึ่งเป็นลักษณะของบ้านคนทั่วไปในสมัยนั้น ไม่มีใครจะสามารถเห็นได้นอกจากจะมองจากที่สูงกว่าเท่านั้น
มุมมองจากพระราชวังที่กษัตริย์ดาวิดมองลงมายังบัทเชบา
นางบัทเชบาได้เลือกเวลาที่คิดว่าทุกคนคงไม่มีใครออกมาเดินเล่นแล้ว เพราะถ้าดูจากช่วงเวลาจะเป็นช่วงเย็นใกล้พลบค่ำ แสดงว่าช่วงเวลาที่กษัตริย์ดาวิดทรงเดินเล่นบนดาดฟ้าคือช่วงเย็น ช่วงเวลาที่บัทเชบาออกมาอาบน้ำน่าจะเป็นช่วงเดียวกันและอาบน้ำไปจนถึงพลบค่ำ พระคัมภีร์ยังบรรยายว่าหลังจากนั้นกษัตริย์ดาวิดส่งคนออกไปถามไถ่หาตัวนางบัทเชบา รับเข้ามาในวังและมีเพศสัมพันธ์กับนาง ถ้ามองสถานการณ์จะต้องถือว่าบัทเชบาถูกผู้มีอิทธิพลเรียกตัวเข้าวังเพื่อมีเพศสัมพันธ์ ไม่มีทางเลยที่บัทเชบาจะขัดขืนคำสั่งของพระราชาได้ ซึ่งถ้าหากมองว่าเธอตั้งใจล่อลวงกษัตริย์ดาวิดจริงก็น่าจะไม่ต้องให้ออกตามหาถึงขนาดนี้ มากไปกว่านั้นคำเผยพระวจนะของนาธันไม่ได้สะท้อนทัศนะที่สามารถโน้มเอียงเชื่อได้ว่าบัทเชบาล่อลวงกษัตริย์ดาวิด (2 ซามูเอล 12:1-15) โดยเฉพาะข้อ 9 “ทำไมเจ้าดูหมิ่นพระวจนะของพระยาห์เวห์? ทำสิ่งที่ชั่วในสายพระเนตรของพระองค์ เจ้าประหารอุรียาห์คนฮิตไทต์ด้วยดาบ เอาภรรยาของเขามาเป็นภรรยาของเจ้า และฆ่าเขาเสียด้วยดาบของคนอัมโมน” หลังจากอุริยาห์เสียชีวิตแล้วบัทเชบาร้องไห้คร่ำครวญเรื่องสามีนาง หากนางบัทเชบาตั้งใจจะผละตัวออกจากสามีเพื่อยกฐานะไปเป็นมเหสีของดาวิด อาการลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้น

คิม และไนเอ็งเจล  (Kirk-Duggan: 2004, 107-109) ได้ยืนยันทัศนะความบริสุทธิ์ใจและเป็นเหยื่อการถูกข่มขืนของบัทเชบา คำอธิบายของเขาสอดคล้องกับริชาร์ดส์ คิม และไนเอ็งเจลมองในมุมของจิตวิทยาอภิบาล (pastoral psychology) โดยเน้นเรื่องความรู้สึกของบัทเชบาที่ร้องไห้คร่ำครวญเมื่อทราบข่าวว่าอุรียาห์เสียชีวิตในการรบว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความรู้สึกรักผูกพันกับอุรียาห์รวมถึงความรู้สึกคร่ำครวญถึงความไม่ยุติธรรมใดใดทั้งสิ้นต่อการกระทำของกษัตริย์ดาวิดที่มีต่อเธอ คิม และไนเอ็งเจล ยังพบว่ากษัตริย์ดาวิดปกปิดสาเหตุการตายของอุรียาห์สามีของนางบัทเชบาด้วย แต่เธออาจรับรู้ภายหลังเมื่อความลับถูกเปิดเผยโดยพระเจ้าผ่านผู้เผยพระวจนะนาธัน

ในตอนนี้เราจะเห็นการจัดการและการดูแลของพระเจ้าตลอดจนการตอบสนองของชุมชนเมื่อกษัตริย์ดาวิดกระทำผิดบาปเรื่องเพศ ซึ่งเป็นการร่วมมือของผู้คนหลายกลุ่มกับพระเจ้า พระเจ้าทรงเปิดเผยเรื่องราวนี้ต่อผู้เผยพระวจนะนาธัน เมื่อรับการเตือนสติแล้วดาวิดกลับใจใหม่แต่เขายังคงต้องรับผลของความบาป ในมุมหนึ่งเราเห็นความรับผิดชอบของดาวิดต่อนางบัทเชบา (กรณีนี้ต่างจากอัมโนนที่ไม่รับผิดชอบทามาร์อย่างสิ้นเชิง) กษัตริย์ดาวิดรับนางมาเป็นมเหสี มากไปกว่านั้นพระคัมภีร์บันทึกไว้ว่าพระเจ้าทรงรักซาโลมอนโอรสของนางบัทเชบา (2 ซามูเอล 12:24) และกษัตริย์ดาวิดตั้งพระทัยจะให้ซาโลมอนเป็นพระราชาองค์ต่อไป (1 พงศ์กษัตริย์ 1:17) ดูเหมือนบุคคลที่เป็นเหยื่อกลับได้รับพระคุณและการเยียวยาอย่างมากมายจากพระเจ้าและคู่กรณีของเธอ

สิทธิสตรีและการปกป้องเหยื่อจากการถูกข่มขืนในประเทศไทยยังถือว่ากำลังพัฒนา ความจริงมีขั้นตอนระบุชัดเจนอยู่แล้วโดยเฉพาะขั้นตอนแรกสุดคือเมื่อเหยื่อเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อปฏิบัติจริง ผู้หญิงกลับตกเป็นเหยื่อการข่มขืนซ้ำในสายตาของเจ้าหน้าที่ผู้ชาย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และอัยการภาค (Regional Public Prosecutors Department) ร่วมกันจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ "บทบาทของอัยการต่อสิทธิสตรีในกระบวนการยุติธรรม" เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2562  โดยศึกษาหาทางแก้ปัญหารายละเอียดเชิงปฏิบัติในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิสตรี การสัมมนาพบว่าผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกายหรือล่วงละเมิดทางเพศมักจะไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีเมื่อเข้ามาในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจเป็นเพราะขาดการฝึกอบรม ทัศนคติเกี่ยวกับเพศ หรือแม้แต่การใช้ภาษากฎหมายที่ทำให้ผู้หญิงต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำซ้อน ตัวอย่างเช่น มีบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งเมื่อผู้ถูกล่วงละเมิดเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ “นี่ถูกข่มขืนเพราะแต่งตัวล่อแหลมน่ะสิ” นายตำรวจหนุ่มกล่าวถึงผู้เคราะห์ร้ายวัยเพียง 12 ปีที่ถูกข่มขืน “หนูไม่รู้จะอธิบายให้คุณตำรวจเข้าใจได้ยังไง หนูถูกผู้ชายข่มขืน แล้วหนูยังต้องมาเล่ารายละเอียดให้ผู้ชายฟังอีก” เหยื่อที่ถูกข่มขืนอีกรายหนึ่งเล่า

ท่านทูตอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษของ TIJ กล่าวว่า “การที่เราไม่ได้ตระหนักเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศและการเหยียดเพศ ทำให้เหยื่อในคดีล่วงละเมิดทางเพศนั้นตกอยู่ในความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงอันเนื่องจากทัศนะของเจ้าหน้าที่ซึ่งมายาคติเกี่ยวกับเพศหญิง และเสี่ยงที่จะถูกละเมิดซ้ำในกระบวนการพิจารณาคดี” ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายหรือล่วงละเมิดทางเพศจำนวนมากที่ไม่ยอมแจ้งความหรือดำเนินคดีเพราะผู้หญิงมักจะไม่เชื่อมั่นหรือกลัวระบบยุติธรรม นอกจากความกลัวและความอายแล้ว ผู้หญิงยังถูกหมิ่นศักดิ์ศรีในกระบวนการยุติธรรมด้วย อัยการจึงมีบทบาทสำคัญในจุดนี้ ทั้งในการฟ้องคดี และการปกป้องเหยื่อจากการย่ำยีทั้งจิตใจและอารมณ์

นางสมศรี วัฒนไพศาล อธิบดีอัยการภาค กล่าวว่า “ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม จะต้องเข้าใจว่าการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กนั้นรุนแรงขึ้นทุกวัน กระบวนการทางกฎหมายต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมผู้เคราะห์ร้ายมากขึ้นไปอีกทางอารมณ์” ดังนั้น จำเป็นต้องมาปรับเปลี่ยนกันที่การศึกษา ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญในการสร้างทัศนคติและวัฒนธรรมใหม่ ในยุคปัจจุบันสิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องของความสัมพันธ์คือ “การยินยอม” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระหว่างคู่สมรส เพื่อน หรือแฟนก็ตาม ผู้ชายไม่มีสิทธิ์เหนือผู้หญิง ความเสมอภาคทางเพศจะเกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะอนุญาตหรือปฏิเสธการมีสัมพันธ์ทางเพศได้ และเมื่อเกิดการละเมิดหรือความรุนแรงใดๆ ขึ้นและเรื่องราวถูกนำสู่กระบวนการยุติธรรม อัยการไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่การปฏิบัติหน้าที่ทางกฎหมายเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีท่าทีการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้ที่ถูกละเมิดหรือทำร้าย เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเหยื่อจะไม่ถูกละเมิดซ้ำสองเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ยังเป็นคำถามที่ตอบยากหากผู้หญิงในคริสตจักรถูกข่มขืนโดยผู้ที่เขาไว้วางใจในคริสตจักร เช่น ผู้อภิบาล ผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณ หรือแม้แต่ศิษยาภิบาล ซึ่งทั้งหมดโดยปกติแล้วเป็นบุคคลที่ไม่น่าจะมีเรื่องพรรค์นี้ แต่เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจเมื่อนิตยสาร Charisma เดือนพฤศจิกายน 2002 ได้เปิดเผยผลสำรวจที่น่าตกใจว่าเกือบ 40% ของศิษยาภิบาลในสหรัฐอเมริกา ยอมรับว่าเพราะความรู้สึกเครียดและสิ้นหวัง ทำให้เขาเริ่มมีความสัมพันธ์นอกสมรสกับหญิงอื่นตั้งแต่เริ่มเข้าสู่การรับใช้ในฐานะศิษยาภิบาลคริสตจักร  เรื่องในลักษณะนี้จึงเป็นไปได้กับทุกคนรวมถึงศิษยาภิบาลในประเทศไทยด้วย หลายครั้งสมาชิกที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่ต้องการเอาเรื่องผู้อภิบาลที่ทำผิดต่อเขาเพราะความกลัวว่าถ้าเรื่องแบบนี้ถูกเปิดเผยหรือขยายออกไปในวงกว้างขึ้น จะเป็นภัยคุกคามต่องานรับใช้ที่พระเจ้ามอบไว้ในมือของผู้นำเหล่านั้น ซึ่งทำให้ผู้กระทำผิดลอยนวลไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบและอาจไปถึงการไม่กลับใจจากความบาปในเรื่องนี้ก็เป็นได้

อาจเป็นเพราะความไว้วางใจ การพูดถึงเรื่องนี้ในคริสตจักรยังถือว่าน้อยมาก หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น คงเป็นวิกฤตที่ต้องเรียนรู้กันไปพร้อมกับความเสียหายที่ยากเกินจะเยียวยา

รายการอ้างอิง
  • Kenneth E. Bailey. Jesus Through Middle Eastern Eyes. Il: InterVarsity Press, 2008.
  • Lawrance O. Richards. Bible Reader's Companion. David C. Cook. 1991.
  • Cheryl A. Kirk-Duggan. Pregnant Passion: Gender, Sex, and Violence in the Bible. Leiden, The Netherlands: Brill Academic Publishers, 2004.
  • สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และอัยการภาค (Regional Public Prosecutors Department). บทบาทของอัยการต่อสิทธิสตรีในกระบวนการยุติธรรม. [ออนไลน์] https://marketeeronline.co/archives/97023 [11 มี.ค. 2562].
  • Pastor to Pastor. Focus on the Family and Ministries Today. Charisma Magazine. TNT Ministries. November, 2002.

ความคิดเห็น