ความหมายการนมัสการของเราตรงกับพระคัมภีร์มากน้อยแค่ไหน

บรรยากาศการนมัสการในแบบร่วมสมัย
ปกติเวลาเราคิดถึงการนมัสการ เรามักจะคิดถึงการร้องเพลงนมัสการที่ไพเราะมีความหมายจากใจ หรือ บรรยากาศการนมัสการที่เรารู้สึกสัมผัสถึงการทรงสถิตของพระเจ้าในวันอาทิตย์หรือวันที่เรานัดกันตามบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและเป็นปกติอยู่ทุกสัปดาห์ แต่หากเราเข้าใจคำว่านมัสการที่แท้จริงตามที่พระคัมภีร์สอนเราอาจพบว่า
“ช่วงเวลานมัสการที่โบสถ์ถือเป็นการแสดงออกในการนมัสการเพียง 0.59% ของความหมายในการนมัสการเท่านั้น”
 ซึ่งจริงๆ แล้ว อาจตีความต่อได้อีกว่า
“หากเราแสดงออกในการนมัสการ 0.59% อย่างดีเยี่ยม แต่ที่เหลือ 99.41% ไม่ติดตามพระเจ้าอย่างแท้จริง เราควรประเมินได้ไหมว่า 0.59% ที่ดีเยี่ยม เป็นเพียงการแสดงเท่านั้น...”
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้จะทำให้น้ำหนักของการแสวงหาพระเจ้าในช่วงนมัสการวันอาทิตย์หรือวันที่เราพบกันในกลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตดูด้อยลงไป แต่เราต้องกลับมาพิจารณาถึงนิยามที่ถูกต้องของการนมัสการมากกว่า

การนมัสการจึงไม่ได้มีความหมายแค่การร้องเพลงในรอบนมัสการในวันอาทิตย์หรือกลุ่ม life group เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของชีวิตที่ยอมจำนนต่อพระเจ้าในทุกๆ ทาง 
ความรู้สึกดื่มด่ำในการนมัสการไม่ได้เกิดจากการแสดงออกถึงความรู้สึกแบบลอยๆ ในอากาศ โดยปราศจากรากฐานของพระวจนะและศาสนศาสตร์ที่ถูกต้อง (John Piper, Desiring God, 90) 
ยอห์น 4:23 แต่วาระนั้นใกล้เข้ามาแล้ว และบัดนี้ก็ถึงแล้ว คือเมื่อคนที่นมัสการอย่างแท้จริงจะนมัสการพระบิดาด้วยจิตวิญญาณและความจริง เพราะว่าพระบิดาทรงแสวงหาคนเช่นนั้นมานมัสการพระองค์
พระเยซูกับหญิงชาวสะมาเรีย
พระเยซูทรงสื่อสารกับหญิงชาวสะมาเรียว่าการนมัสการที่แท้ไม่ใช่เรื่องของรูปแบบหรือสถานที่ แต่เป็นเรื่องฝ่ายวิญญาณ ที่เริ่มจากจิตวิญญาณ (In Spirit) คือวิญญาณของพระเจ้าที่เข้ามาทำการในจิตวิญญาณของเรา และชีวิตเราที่รับการเปลี่ยนแปลงโดยพระวจนะพระเจ้า (Truth) สถานที่นมัสการคือวิหารฝ่ายวิญญาณ คือผู้เชื่อทุกคนผู้เป็นที่ประทับของพระวิญญาณบริสุทธิ์

นิยามของการนมัสการตามพระคัมภีร์

การนมัสการที่แท้จริงคือการยอมเปลี่ยนแปลงชีวิตตามพระฉายพระเจ้า ยอมจำนนต่อพระเจ้า ยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาทำงานร่วมกับชีวิตเราในการเดินติดตามพระเจ้า เชื่อฟังพระวจนะของพระองค์

ส่วนความลึกในการนมัสการนั้นเป็นวิถีที่ต้องใช้เวลา ไม่สามารถเกิดขึ้นแบบทันทีทันใดได้ ความจริงการรู้จักใครสักคน กว่าจะคุยเรื่องลึกๆ กันได้ ล้วนอาศัยเวลา การพัฒนาการรู้จักกัน จนถึงความไว้วางใจเชื่อใจกันและกัน ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าก็เป็นแบบนั้นเช่นเดียวกัน แสดงว่าการนมัสการเป็นประสบการณ์ที่ต้องดำเนินไปตลอดชีวิตของเรา และตลอดชีวิตของเราการยอมจำนนต่อพระเจ้าจะก่อให้เกิดความลึกซึ้งในความสัมพันธ์กับพระเจ้าในระดับที่แตกต่างกัน

เป้าหมายของการนมัสการ

คือการเข้าสนิทกับพระเจ้า (Engaging with God), การยอมรับการปกครองของพระเจ้าในชีวิต (Sovereignty/Kingship), การดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า

มิติการแสดงออกของชีวิตที่นมัสการ

เราอาจเคยได้ยินมิติการแสดงออกของชีวิตที่นมัสการใน 2 แนว แนวกว้าง คือทั้งชีวิตที่ยกย่องพระเจ้า (Life Worship) และ แนวแคบ คือการร้องเพลงนมัสการในคริสตจักร (Corporate Worship) แต่หากนิยามของการนมัสการที่ดูลึกลงไปในพระคัมภีร์รวมถึงสิ่งที่พระเยซูตรัสไว้ นิยามและมิติการแสดงออกของชีวิตที่นมัสการจะหมายถึงวิถีชีวิตทั้งหมดของคริสเตียนที่นบนอบยอมจำนนต่อพระเจ้า คือ เริ่มจากข้างในไปสู่ข้างนอก และจากข้างนอกไปสู่ทุกทิศทุกทาง เหมือนที่พระเยซูตรัสไว้ "น้ำ​ที่​เรา​จะ​ให้​เขา​นั้น​จะ​กลาย​เป็น​บ่อ​น้ำพุ​ใน​ตัว​เขา​พลุ่ง​ขึ้น​ถึง​ชีวิต​นิรันดร์ (ยอห์น 4:14)” 

มิติการแสดงออกของชีวิตที่นมัสการจึงครอบคลุมไปถึง
  • การผูกพันกับพระคริสต์และพระกายของพระองค์ (Engaging with Christ and the Body of Christ)
  • การรับใช้พระเจ้าและเสริมสร้างพระวรกายของพระคริสต์ (Ministry and Edification)
  • การร้องเพลงนมัสการในที่ประชุม (Congregational worship/Musical Worship/Worship Event)
พระเยซูทรงไถ่บาปเราโดยพระโลหิตของพระองค์ ชีวิตของเราจึงเป็นของพระองค์
การนมัสการพระเจ้าจึงสำคัญมาก หากเรานมัสการด้วยความเข้าใจเพียงแค่บทเพลง อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าจำกัดอยู่แค่ความรู้สึกมากกว่าทั้งชีวิตที่เป็นของพระองค์ก็เป็นได้ ให้เรากลับมาตระหนักถึงพระคุณความรักของพระเยซูที่ทรงไถ่เราออกจากความบาปโดยพระโลหิตของพระองค์ เราจึงเป็นของพระองค์และเพื่อพระองค์ ให้เรานมัสการพระเจ้าด้วยทั้งชีวิตของเรากันเถอะ

อ้างอิง

  • Constance M. Cherry, Worship Architect: A Blueprint for Designing Culturally Relevant and Biblically Faithful Services, (Grand Rapids, MI: Baker Academic, 2010), 32-33.
  • David Peterson. Engaging with God: A Biblical Theology of Worship. (IL: InterVersity Press, 1992), 248-249.
  • N.T. Wright "Freedom and Framework, Spirit and Truth: Recovering Biblical Worship". Journal of Studia Liturgica (2002): 6-7.
  • Tan Sooi Ling, Lecture in Christian Worship: Biblical and Contextual Perspectives, Doctor of Ministry, AGST Alliance & BBS, 2018.

ความคิดเห็น