สงครามครูเสด สงครามแห่งอำนาจและผลประโยชน์


การเดินทางของกองทัพยุโรปพื่อทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ณ เมืองเยรูซาเล็ม
สงครามโลกครั้งใหญ่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 อาจจะเป็นสงครามครูเสดก็ได้ เพราะเป็นการพุ่งรบอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างกองกำลังของทวีปยุโรป และตะวันออกกลาง ผลัดกันแพ้ชนะหลายครั้ง กินเวลายาวนานกว่า 200 ปี และแม้ถึงจะหยุดรบแต่ก็ไม่จบจริง ยังมีสงครามย่อยๆ ต่อเนื่องอีกหลายต่อหลายครั้งจนถึงศตวรรษที่ 16 จากนั้นโลกก็เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและการล่าอาณานิคม ผลกระทบระหว่าง 2 ศาสนา ยังคงอย่างต่อเนื่องยาวนานแม้ในยุคปัจจุบัน

สงครามครูเสดไม่ได้มีสาเหตุที่เป็นเรื่องศาสนาอย่างเดียว แต่เป็นหลายเรื่องผสมผสานกันอย่างลงตัวทั้งทางฝั่งคริสต์และฝั่งอิสลาม และลั่นไกด้วยเหตุการณ์พิเศษทำให้เกิดสงคราม 9 ครั้ง ในรอบ 200 ปีแรก ต่อเนื่องกัน ถ้าจะสรุปสั้นๆ "สงครามครูเสดคือ สงครามแห่งศักดิ์ศรี และการขยายอำนาจ โดยนำศาสนามาเป็นข้ออ้าง" ส่วนสาเหตุที่สำคัญของสงครามผมได้สรุปไว้ดังนี้

1. ความหลงใหลในเรื่องการเสด็จกลับมาของพระเยซู
ก่อน ปี ค.ศ.1000 มีคริสเตียนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าพระเยซูจะกลับมาในปี ค.ศ.1000 จึงเดินทางไปแสวงบุญที่เยรูซาเล็ม ขณะนั้น ศาสนาอิสลามเรืองอำนาจเรียบร้อย (อิสลามเกิดใน ศตวรรษที่ 7) และดินแดนปาเลสไตน์ก็เป็นของอิสลามอยู่แล้ว รวมถึงเยรูซาเล็ม ฉะนั้นเมื่อคริสเตียนเดินทางไปถึงเยรูซาเล็ม จึงถูกอิสลามดูถูกสารพัดว่าเป็นศาสนาตกยุค ไม่ทันสมัย ชาวคริสต์จึงกลับมาด้วยความโกรธแค้น

2. การปลุกระดมในระดับรากหญ้า
นักบวชชื่อ ปีเตอร์ เดอะ เฮอร์มิท เดินทางไปทั่วยุโรป เพื่อเทศนาปลุกระดมให้ชาวคริสต์ลุกขึ้นต่อสู้กับมุสลิมด้วยกำลังทหาร ซึ่งทำได้ดีทีเดียว เป็นกองกำลังแรกที่บุกเข้าไปในดินแดนปาเลสไตน์ก่อนกองกำลังของพวกขุนนางเสียอีก


3. ชาวบ้านที่ยากจน หมดหนทาง
สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ได้เสนอให้ผู้ที่ไปรบในสงครามครูเสด ได้ชีวิตนิรันดร์ในสวรรค์ทันที หากต้องตาย ไม่ต้องผ่านไฟชำระ และสัญญาจะได้ที่นาทำกินไม่ว่าจะรอด หรือตายก็ตาม ฉะนั้นจะอยู่ก็ยากจนอยู่แล้ว ไปรบดีกว่า มีโอกาสมากกว่า
ทหารมุสลิม (ซ้าย) และ ทหารคริสเตียน (ขวา)
4. ความพยายามจะประสานนิกายออร์ธอด๊อกซ์กลับเข้ามาในศาสนจักรคาทอลิก
นิกายนี้อยู่ทางฝั่งตะวันออก เมื่อปี ค.ศ.1054 มีปัญหากับสันตะปาปาทางฝั่งตะวันตกและได้แยกตัวออกไปจากคาทอลิก ฉะนั้นสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 จึงหาโอกาสที่จะรวมเอานิกายออร์ธอด๊อกซ์กลับมาดังเดิม


5. การเพิ่มขึ้นของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง
เดิมทีอาณาจักรอิสลามรักสงบ แต่เมื่อกลุ่มเซลจุก เติร์ก (Seljuk Turk) ซึ่งมาจากเอเซียกลาง (ถูกจีนขับไล่มาอีกที) ได้เข้ามานับถือศาสนาอิสลามและเข้ามามีอำนาจในอาณาจักรอิสลามที่ดามัสกัส จึงเป็นตัวกระตุ้นในการทำสงคราม เพราะพวกเซลจุกเป็นนักรบบนหลังม้าที่มีความดุดันและชอบสู้รบ
6. จังหวะที่ประจวบเหมาะ - อาณาจักรไบแซนไทน์ (โรมฝั่งตะวันออก) ขอความช่วยเหลือมายังสันตะปาปา
เนื่องจากอาณาจักรไบแซนไทน์ถูกกองทัพเซลจุก เติร์ก โจมตี จึงขอความช่วยเหลือมายัง สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 จึงเป็นโอกาสที่เหมาะเจาะของสันตะปาปาเอง และ เป็นโอกาสของพวกขุนนางที่ชอบประจบศาสนจักรเพื่ออำนาจการปกครอง เช่น อาณาจักรแฟรงค์ (ฝรั่งเศส) อาณาจักรอากีเตน อาณาจักรอังกฤษ อาณาจักรเยอรมัน สันตะปาปาจึงมีทหารที่พร้อมจะสู้รบกับมุสลิม

โลกได้เรียนรู้อะไรไหม? ใช่ ต้องมีบทเรียนมากมายจากความสูญเสียในครั้งนั้นอย่างแน่นอน แต่ก็ยังมีบางคนไม่อยากเรียนรู้และพร้อมจะสร้างความเสียหายซ้ำๆ เพื่อให้เกิดการปะทะกันอยู่ร่ำไป จะเพราะผลประโยชน์ซ่อนเร้นหรือเพื่อให้เกิดความสะใจก็ตาม หรือคนเราก็คิดได้ประมาณนี้


อ้างอิง
"ครูเสด ในนามแห่งกางเขนศักดิ์สิทธิ์ สงครามศาสนาเลือดที่ไม่มีวันจบ โดย ดร.โนว์
"มหาสงครามที่โลกจารึก โดยอนันตชัย จินดาวัฒน์"

ความคิดเห็น