โดย กนก ลีฬหเกรียงไกร
วันนี้ได้มีโอกาสคุยกับครูต่างชาติเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย ต้องบอกก่อนว่า ครูคนนี้เขาตั้งรกรากอยู่เมืองไทย และรักเมืองไทยมาก และเป็นผู้รับผิดชอบระบบการศึกษาที่โรงเรียนอินเตอร์แห่งหนึ่งในประเทศไทยด้วย
ครูฝรั่งบอกว่าเขาแปลกใจกับวิธีเรียนของนักเรียนในไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเล็กหรือโรงเรียนใหญ่ คือเรียนหนัก หลายชั่วโมง ต้องเข้าชั้นเรียนพิเศษเสาร์ อาทิตย์ ดูเหมือนน่าจะดี แต่ผลปลายทางที่เขาเห็นคือไม่มีใครเคยได้รางวัลโนเบลเลย (ผมนี่อึ้งไปเลยกับคำนี้)
ครูคนนั้นบอกว่าเขาขอโทษที่วิจารณ์ระบบการศึกษาไทย แต่ระบบการศึกษาไทยมีเป็นปัญหาจริงๆ และปัญหามีเยอะ ที่เห็นได้ชัด ๆ เช่น
1. เรียนเพื่อให้สอบได้ตรงตามที่ครูสอน มากกว่าเรียนเพื่อให้สามารถคิด ตั้งคำถาม และรู้วิธีหาคำตอบ
ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้จนสามารถประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน การแก้โจทย์ในห้องสอบทำได้ แต่ตั้งโจทย์ในชีวิตประจำวันไม่เป็นทำให้ไม่ได้นำความรู้ไปแก้โจทย์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
2. มุมมองต่อการบ้านผิดไป
การบ้านมีไว้เพื่อให้นักเรียนได้ทบทวน แต่ทั้งตัวเด็กและผู้ปกครองกลับมองเป็นสิ่งที่ต้องเสร็จและถูกต้อง จึงเคี่ยวเข็ญให้ทำพร้อมบอกคำตอบ พอมาถึงมือครูฝรั่ง ครูฝรั่งก็เข้าใจว่าเด็กโอเคแล้ว มีความเข้าใจดีแล้ว จึงไปเรื่องอื่นต่อ ทั้ง ๆ ที่เด็กยังงง ๆ อยู่ เรื่องนี้ครูฝรั่งแนะนำว่า การบ้านต้องให้เด็กทำเอง ถ้าทำผิดครูจะสอนใหม่จนเข้าใจ ถ้าลืม ครูจะฝึกเขาให้รู้จักรับผิดชอบ ซึ่งความคิดแบบนี้จะติดตัวเขาไปจนตลอดชีวิต ผลการวิจัยของยุโรป (ฟินแลนด์) บอกชัดเจนว่าการทำแบบนี้จะช่วยให้เด็กมีภาวะการเติบโตเรื่องความรับผิดชอบชีวิตในทุกๆ ด้านได้ดีในที่สุด
3. ปริมาณชั่วโมงเรียน ปริมาณเนื้อหาความรู้
ปริมาณการบ้านที่ให้ ไม่ได้ตัดสินคุณภาพเด็กหรือแม้แต่คุณภาพของโรงเรียนเลย เพราะคุณภาพของนักเรียนคือการรู้จักคิดและประยุกต์เนื้อหาที่เรียนในชีวิตของเขาต่างหาก เรื่องนี้ยังเป็นปัญหามากในความคิดคนไทยเพราะทั้งระบบการศึกษาไทยสนับสนุนให้เด็กเรียนมาก ๆ โดยขาดมุมวิเคราะห์ มุมประยุกต์ จบได้เพราะสอบ แต่จบแล้วทำอะไรไม่ค่อยเป็น
4. ใช้ความพยายามในเชิงวิชาการผิดวัตถุประสงค์
ครูคนนั้นให้ไอเดียว่า ความรู้ที่เราเรียนกันมา อย่างเช่น คณิตศาสตร์ชั้นสูง มีมา กว่า 500 ปีแล้ว การพยายามจำสูตรคณิตศาสตร์เพื่อแก้โจทย์ซับซ้อนไม่ได้ช่วยเลย แทนที่จะสามารถวิเคราะห์ว่าโจทย์นั้น ๆ ตั้งเพื่ออะไร กำลังจะบอกอะไร มีประโยชน์อะไร แล้วค่อย ๆ ค้นหาสูตรคณิตศาสตร์ที่เหมาะกับการแก้โจทย์ ไปใช้ ซึ่งไม่ต้องไปจำ สามารถปรับเทคโนโลยีปัจจุบันค้นหาสูตรนั้น ๆ ได้เลย ความรู้แบบนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจในแก่นวิชาที่แท้จริง โดยไม่ติดสูตรว่าต้องแก้โจทย์แบบนี้ด้วยสูตรอะไร อนาคตจะสามารถเรียนรู้ที่จะค้นหาวิธีการในรูปแบบของตนเองเพื่อแก้โจทย์อะไรก็ได้ในชีวิต
ครูฝรั่งเล่าให้ฟังว่า นักเรียนไทยเรียนวิธีแก้โจทย์ด้วยสูตร และจำจะเป็นข้อๆ ว่าโจทย์แบบไหนใช้สูตรอะไร แต่พอพลิกแพลงโจทย์ก็งงไปหมดเพราะไม่ได้เข้าใจความสัมพันธ์ของสูตรกับโจทย์จริง ๆความคิดผม ระบบการศึกษาไทยมันกลายเป็นระบบเรียบร้อยแล้ว คือมีคนที่เกี่ยวข้องเยอะเกินกว่าจะไปเปลี่ยนความคิดเขาได้หมดทุกคน มีคนกลุ่มใหญ่มากเดินอยู่ในเส้นทางนี้ ถ้าระบบการคัดสรรยังไม่เปลี่ยน การฝืนกระแสทำได้ยากมาก ๆ ฝืนไปลูกก็เข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ไม่ได้ เพราะจะแพ้คนที่เตรียมตัวมาสอบเป็นอย่างดี (แต่อาจจะเก่งแค่สอบได้) อาจจะต้องปรับตัวคนละครึ่งทาง ฝึกให้ลูกได้คิด ให้เหตุผล ใช้หลักวิชา ฝึกให้ประยุกต์เป็น และยังคงดูแลเรื่องเรียนอย่างใกล้ชิดไปด้วยกัน
ความคิดเห็น